Sat. Oct 12th, 2024
โซเชียลเน็ตเวิร์ก

เมื่อพนักงานมีส่วนสำคัญในการประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการบนโซเชียลเน็ตเวิร์ก

ไม่นานมานี้ We Are Social บริษัทเอเจนซี่จากสหราชอาณาจักรได้รายงานข้อมูลการใช้งานดิจิทัลของคนไทยใน Digital Thailand 2020 ซึ่งเป็นผลของการสำรวจสถิติผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในปีที่ผ่านมาและต่อเนื่องไปในปี 2020 หรือปีนี้ พบว่าผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตในประเทศไทยมีมิติของการใช้งานอินเทอร์เน็ตที่ลุ่มลึกมากขึ้นกว่าเมื่อก่อนอย่างเห็นได้ชัด คนไทยในวันนี้มีความ Fully Digitalization มากขึ้น จนอาจจะกล่าวได้ว่าแทบไม่มีใครที่ไม่ออนไลน์อีกต่อไปแล้ว โดยข้อมูลนี้อ้างอิงมาจากเว็บไซต์ Everydaymarketing.co ซึ่งท่านผู้ประกอบการสามารถติดตามอ่านเพิ่มเติมกันได้ที่นี่ www.everydaymarketing.co/trend-insight/digital-thailand-2020-we-are-social หรือ สแกน QR Code ที่ท้ายบทความ

ปัจจุบันการเข้าถึงโซเชียลเน็ตเวิร์กกลายมาเป็นเรื่องหลักของผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตทุกระดับที่ทุกคนล้วนแล้วแต่มีอุปกรณ์สำหรับเข้าถึงอินเทอร์เน็ตด้วยกันทั้งนั้น ทุกวันนี้แทบจะไม่มีใครใช้ฟีเจอร์โฟนหรือโทรศัพท์สำหรับโทรคุยอย่างเดียวอีกต่อไป และไม่เฉพาะแต่สมาร์ตโฟนเท่านั้น อุปกรณ์ IoT (Internet of Things) ได้ถูกนำมาช่วยอำนวยความสะดวกในการดำเนินชีวิตประจำก็ถูกต่อเชื่อมเข้าอินเทอร์เน็ตด้วย ไม่ว่าจะเป็น นาฬิกาสมาร์ตวอร์ช สมาร์ตทีวี อุปกรณ์ตรวจจับเสียง อุปกรณ์ตรวจจับควัน หรือแม้แต่ระบบกล้องวงจรปิดและสัญญาณกันขโมยก็ยังต้องเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเช่นเดียวกัน

สำหรับสถานประกอบการที่มีสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวนั้น แน่นอนว่าความเด่นชัดเรื่องวัฒนธรรมองค์กรเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ทั้งในเรื่องของการให้บริการแก่ลูกค้าที่ต้องอาศัยใจในการให้บริการ หรือ Service mind ที่ยอดเยี่ยม ทั้งการพูดจาการปฏิสัมพันธ์ รวมถึงความเอาใส่ใจในการแก้ปัญหา โดยที่ลูกค้าแทบจะไม่ต้องร้องขอ ทำให้ลูกค้ามีความประทับใจและยังนำความประทับใจนั้นบอกต่อไปยังบุคคลที่พวกเค้ารู้จัก ลูกค้าบางคนการได้รับไมตรีจิตจากพนักงานของเราก็อาจจะทำให้พวกเขากลายมาเป็น Brand advocacy ให้กับเราได้อย่างไม่ยากเย็นนัก ที่สำคัญก็คือด้วยศักยภาพของโซเชียลเน็ตเวิร์กทำให้ข้อมูลถูกส่งต่อไปยังกลุ่มเป้าหมายอย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ อีกทั้งยังเป็นการง่ายที่ลูกค้าจะใช้สมาร์ตโฟนพิมพ์ข้อความหรือถ่ายภาพแล้วกดปุ่ม Share ส่งต่อไปยังเครือข่ายเพื่อนฝูงของตน และยังมีความเป็นไปได้ที่เพื่อน ๆ เหล่านั้นจะแชร์ต่อ ๆ กันไปเรื่อย ๆ มาถึงตรงนี้ท่านผู้ประกอบน่าพอมองเห็นภาพได้ชัดเจนขึ้นแล้วว่าในยุคที่โซเชียลเน็ตเวิร์กเบ่งบาน นอกจากลูกค้าของเราจะเป็น Brand advocacy ให้กับเราแล้ว พนักงานของเราเองนี่แหละ คือ Brand advocacy ที่ดีและยั่งยืนที่สุด

แนวทางการปฏิบัติเพื่อที่จะทำให้พนักงานใช้โซเชียลเน็ตเวิร์กประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการอย่างมีประสิทธิภาพ

  • ผู้บริหารและพนักงานทุกคนในองค์กรต้องมีจุดยืนและเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจนว่าจะใช้ช่องทางโซเชียลเน็ตเวิร์กมาช่วยประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการของตน ซึ่งผู้บริหารจำเป็นต้องอธิบายให้เข้าใจถึงความสำคัญของเรื่องนี้กับพนักงานกันอย่างตรงไปตรงมา เพราะบางกรณีเราอาจจะต้องใช้นโยบายขอความร่วมมือจากพนักงานให้ช่วยดำเนินการ
  • พนักงานทุกคนควรทราบว่าพวกเขาจะได้ประโยชน์อะไรบ้างทั้งทางตรงและทางอ้อมเมื่อได้เข้ามามีส่วนร่วม
  • ในการใช้งานโซเชียลเน็ตเวิร์กประชาสัมพันธ์สินค้าและบริการนั้น พนักงานต้องมีแนวทางปฏิบัติที่ถูกต้องชัดเจน และเนื่องจากเทคโนโลยีด้านอินเทอร์เน็ตมีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก ดังนั้น จึงต้องมีการให้ข้อมูลด้านเทคนิคอยู่เป็นประจำ ทั้งยังเป็นการย้ำให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขายังอยู่บนเส้นทางที่องค์กรคาดหวังไว้
  • องค์กรจำเป็นต้องมีการจัดตั้งทีมงานไว้คอยสนับสนุน ช่วยเหลือ หรือให้คำแนะนำแก่พนักงาน ซึ่งทีมงานนี้ควรได้รับมอบหมายหน้าที่ให้เป็นผู้ Monitoring ข้อมูลต่าง ๆ ที่พนักงานได้สื่อสารออกไปในโซเชียลเน็ตเวิร์ก ในกรณีที่อาจมีข้อผิดพลาดจากการสื่อสารของพนักงาน เพื่อที่จะรายงานและหาทางแก้ไขอย่างทันท่วงที
  • จำเป็นจะต้องมีการวัดและประเมินผล โดยอาจจะวัดจาก Message ที่สื่อสารมาจากผู้ใช้บริการ

อย่างไรก็ตาม แม้พนักงานจะเป็น Brand Advocacy ที่ดี แต่ก็ต้องไม่ลืมว่าทุกคนล้วนมีความเป็นปัจเจก ย่อมที่จะมีอิสระทางความคิด พนักงานบางคนอาจจะมีโลกส่วนตัวที่องค์กรไม่ควรเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือลงลึกมากเกินไป ดังนั้น จึงต้องใช้ความระมัดระวังไปไม่เข้าไปก้าวก่ายตรงส่วนนั้น และต้องไม่ลืมจุดยืนเดิมร่วมกันที่ว่าเมื่อองค์กรได้ประโยชน์พนักงานก็จะได้ประโยชน์ด้วย เฉกเช่นเมื่อได้ลงเรือลำเดียวกันแล้วก็ย่อมที่จะต้องช่วยกันพายเรือลำนี้ไปให้ถึงจุดหมายนั่นเอง

ที่มา : นิตยสาร Thai Hotel & Travel Magazine ฉบับเดือน เมษายน – พฤษภาคม 2020

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *