Thu. Apr 25th, 2024
‘เทคโนโลยี’ จิ๊กซอว์หลักที่ตลาดอาหารไทยยังขาด

‘เทคโนโลยี’ จิ๊กซอว์หลักที่ตลาดอาหารไทยยังขาด

นาทีนี้คงไม่มีใครปฏิเสธว่าไทยคือจุดหมายด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ระดับโลกไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นผลโหวตจากนักท่องเที่ยวผ่านสื่อและช่องทางต่าง ๆ หรือแม้แต่รสชาติของอาหารไทยที่พิสูจน์ให้ใครต่อใครประจักษ์ได้เป็นอย่างดี แต่สิ่งสำคัญที่ภาคการท่องเที่ยวไทยไม่ควรมองข้าม คือ การนำ ‘เทคโนโลยี’ มาช่วยสร้างความโดดเด่นแก่การท่องเที่ยวเชิงอาหารของไทยมากขึ้นในทุก ๆ มิติ ไล่เรียงจากจุดเริ่มต้นจนถึงปลายทางของห่วงโซ่คุณค่า (Value Chains) เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ ‘ชุมชน’ ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของวัฒนธรรมอาหาร สามารถพัฒนาตัวเองด้วยการนำอาหารมาโปรโมทท่องเที่ยวชุมชน เพื่อให้ชุมชนได้รับประโยชน์จากการขยายตัวด้านท่องเที่ยวมากที่สุดนั่นเอง

เทคโนโลยีกับการท่องเที่ยวเชิงอาหาร

คุณซูราบ โพโลลิคาชิวิลิ เลขาธิการองค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) กล่าวว่า การนำ ‘เทคโนโลยี’ และ ‘นวัตกรรม’ มาช่วยสร้างสรรค์และเพิ่มพูนประสิทธิภาพของการท่องเที่ยวเชิงอาหารให้มีมากขึ้นนั้น นอกจากจะช่วยเพิ่มอัตราการเข้าถึงประสบการณ์ที่สามารถจับต้องได้อย่างอาหารภายใต้โจทย์การรักษาเอกลักษณ์ดั้งเดิมและวัฒนธรรมชุมชนให้คงอยู่แล้ว ยังช่วยบริหารจัดการเพื่อลดการผลิตและบริโภคที่มากเกินความจำเป็น จนเป็นเหตุให้เกิดปัญหาขยะจากวัตถุดิบและอาหารต่าง ๆ ในภายหลัง

“ผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมถือเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวและโรงแรมควรเร่งหาวิธีการแก้ปัญหาเหล่านี้ให้ได้ในระยะยาว และควรนำเทคโนโลยีกับนวัตกรรมมาส่งเสริมการทำงานเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพ พร้อมลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม” คุณซูราบกล่าว

โดยปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในห่วงโซ่คุณค่าของตลาดการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนของการจองออนไลน์ การนำปัญญาประดิษฐ์ (A.I.) มาคำนวณสถิติการใช้งานในครัวด้านต่าง ๆ เป็นต้น เมื่อเทคโนโลยีมีส่วนช่วยทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจอาหาร ทั้งเชฟร้านอาหาร ผู้ผลิต เจ้าของกิจการ และอื่น ๆ อีกมากมาย มองว่าควรเร่งพัฒนาเทคโนโลยีที่นอกจากจะฉลาดแล้ว ให้ช่วยรู้จักสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริงแก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้วย

“การพัฒนาเพื่อความยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) คือ เป้าหมายหลักของสหประชาชาติ ซึ่งเราต้องการผลักดันให้เกิดขึ้นจริงภายในปี 2030 หวังให้เกิดความมั่นใจว่าการท่องเที่ยวเชิงอาหารจะช่วยสร้างผลดีต่อเศรษฐกิจและสังคมในภาพรวม รวมถึงการปรับตัวเพื่อใช้เทคโนโลยีอย่างเท่าทัน และนำมาพลิกเพื่อสร้างโอกาสด้านการท่องเที่ยว ซึ่งมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 5-6% ต่อปีในอีก10 ปีข้างหน้า ในสถานการณ์ที่หลาย ๆ ประเทศนำอาหารมาเป็นตัวชูโรงในการแข่งขันของภาคการท่องเที่ยวระดับโลก” คุณซูราบกล่าว

อาหารและเครื่องดื่ม

ด้านคุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า หนึ่งในกรณีศึกษาที่น่าสนใจของการนำเทคโนโลยีมาใช้พัฒนาอุตสาหกรรมอาหาร คือ ประเทศจาไมก้า ซึ่งได้สร้างแพลตฟอร์มให้ผู้ผลิตวัตถุดิบท้องถิ่นได้พบปะขายสินค้ากับผู้ประกอบการร้านอาหารโดยตรง หนุนให้การทำธุรกิจร่วมกันเป็นเรื่องง่ายขึ้นอีกระดับ

จึงมีความเป็นไปได้ที่ตลาดอาหารไทยจะนำโมเดลนี้ปฏิบัติตาม เพราะปัจจุบันมีแพลตฟอร์มมากมาย เช่น เว็บไซต์ รวมถึงชุมชนออนไลน์ที่ทำหน้าที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรับประทานอาหารในร้านต่าง ๆ อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นรายละเอียดเรื่องอาหารที่ตั้งของร้าน รวมถึงรีวิวร้านอาหารในแง่มุมต่าง ๆ แต่เกือบทั้งหมดยังเน้นการสื่อสารจากผู้ประกอบการร้านอาหารสู่ผู้บริโภค มากกว่าการติดต่อระหว่างผู้ประกอบการร้านอาหารกับผู้ผลิตวัตถุดิบท้องถิ่น

นี่จึงน่าจะเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาตลาดอาหารไทยทั้งระบบ เพื่อดึงชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมมากขึ้น ซึ่งเป็นจุดสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจท้องถิ่นเติบโต

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *