Fri. Mar 29th, 2024
ฮอสพิทาลิตี้เทคโนโลยีกับ อาหารจานพิเศษ

ฮอสพิทาลิตี้เทคโนโลยีกับ อาหารจานพิเศษ

ช่วงเวลา 10-20 ปีข้างหน้า คือช่วงเวลาที่ตื่นเต้นที่สุดในโลกมนุษย์ นี่คือคำคาดการณ์ของกูรูด้านเทคโนโลยีเกี่ยวกับโลกในอนาคตที่กำลังจะเปลี่ยนไปชนิดไม่อาจละสายตาได้ เมื่อเทคโนโลยีได้กลายเป็นตัวละครสำคัญของโลกธุรกิจ ส่งผลให้โรงแรม รีสอร์ต และธุรกิจให้บริการอื่นๆ ต่างเร่งปรับตัวตามรถไฟขบวนนี้ เห็นได้จากการเข้าไปนั่งในห้องอาหาร ทุกวันนี้โรงแรมหลายๆ แห่งได้นำเทคโนโลยีมาปรับใช้กับทุกจุดสัมผัส หรือ Touch Point ของลูกค้า

เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการสั่งอาหาร อุปกรณ์แท็บเล็ตได้เข้ามาแทนที่แฟ้มเมนูอาหารแบบเดิมๆ แล้ว เพื่อนำเสนอรูปภาพของอาหารและส่วนผสมสำคัญในแต่ละเมนูได้อย่างชัดเจน ประกอบการตัดสินใจของลูกค้า หากบนหน้าจอแท็บเล็ต มีการนำเสนอเมนูอาหารแบบภาพเคลื่อนไหวกระตุ้นต่อมอยากอาหาร ด้วยการเลือกช็อตคมๆ ให้เห็นสีสันแต่ละมุม ชวนให้ลูกค้าน้ำลายสอก็น่าจะเข้าท่าน่าจะช่วยขับดันการตัดสินใจต่อเมนูนั้นๆ ได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ ยังสามารถนำคอนเทนต์เกี่ยวกับอาหารแต่ละเมนูไปใส่ในดีไวซ์ประจำแต่ละห้องพัก เปิดโอกาสให้ลูกค้าได้เพลิดเพลินกับเมนูอาหารทั้งแบบภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวเพิ่มพูนอัตราการตัดสินใจคลิกสั่งอาหารมาเสิร์ฟถึงห้อง

ทั้งนี้ ในรายการสั่งอาหารอาจต้องเพิ่ม ‘ตัวเลือก’ ด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น ต้องการใช้น้ำมันชนิดใดในการปรุงอาหารเป็นพิเศษ ต้องการหรือไม่ต้องการผักกับเนื้อสัตว์ชนิดใด เพราะบางทีลูกค้าอาจยุ่งยากใจเมื่อต้องเห็นผักที่ตัวเองไม่ชอบกลิ่นถูกเสิร์ฟมาโดยไม่ได้รับการสอบถามก่อนว่าต้องการหรือไม่, ต้องการลดโซเดียมหรือความหวานเป็นพิเศษหรือไม่ ตามแนวโน้มการหันมาใส่ใจดูแลสุขภาพของคนทั่วโลก หรือต้องการตามใจเชฟผู้ปรุง เชฟว่าทำแบบไหนดีแบบไหนอร่อยก็ขอให้จัดมาเพื่อแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าโรงแรมหรือรีสอร์ตของคุณใส่ใจพวกเขามากแค่ไหน และต้องการให้อาหารแต่ละจานเป็นจานพิเศษ ของลูกค้าแต่ละคนมากที่สุด

อีกหนึ่งเทรนด์ที่ผู้บริหารต้องจับตามองอย่างยิ่ง โดยเฉพาะโรงแรมและรีสอร์ตขนาดกลางและเล็ก คือ เทรนด์ ‘เซลฟ์ เซอร์วิส’ ที่ทุกวันนี้เริ่มเห็นความชัดเจนในเชิงพฤติกรรมของผู้เข้าพักมากขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาอยากทำอะไรด้วยตัวเองไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเช็คอินและเช็คเอาต์ เป็นไปได้หลายๆ คน อยากลดขั้นตอนและเวลาทำธุรกรรมหน้าเคาน์เตอร์ต้อนรับลูกค้า เพราะอยากจะกระโจนเข้าห้องพักและนอนบนเตียงเต็มทีแล้ว แสดงให้เห็นว่าลูกค้าหลายคนชอบปฏิสัมพันธ์กับเทคโนโลยีมากกว่าพนักงาน หากไม่ใช่เรื่องใหญ่หรือสำคัญจริงๆ ที่ต้องอาศัยการคุยแบบตัวต่อตัวเพื่อสร้างความเข้าใจนับเป็นโจทย์สำคัญที่ผู้บริหารและพนักงานโรงแรมต้องทำความเข้าใจและปรับตัวตามอย่างยิ่ง

เรื่องเหล่านี้ไม่ใช่แค่เฉพาะห้องพัก ห้องอาหารและห้องครัวก็เช่นกัน ไม่แน่ว่าในอนาคตโรงแรมและรีสอร์ตอาจไม่ต้องการพนักงานเสิร์ฟอาหารแล้วก็ได้ หรือหากต้องมีก็มีเท่าที่จำเป็นเท่านั้น โรงแรมขนาดกลางและเล็กหลายแห่งได้จำกัดจำนวนพนักงานเสิร์ฟไปเป็นที่เรียบร้อย โดยรวบให้เป็นหนึ่งในหน้าที่ของพนักงานต้อนรับที่ต้องทำหลายๆ บทบาทแบบครอบจักรวาลมากขึ้น ให้สอดคล้องกับแนวทางการประหยัดต้นทุนและนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *