Fri. Apr 19th, 2024
ตัวแวดล้อมในละคร ‘คนก้นครัว’

ตัวแวดล้อมในละคร ‘คนก้นครัว’

ในซีรีส์ต่างประเทศที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับ ‘คนก้นครัว’ หลายๆ เรื่อง ผู้เขียนสังเกตเห็นว่าทีมงานมักจะเซ็ตฉากในร้านอาหารหรือห้องอาหารในโรงแรมให้ตัวละครเอกทำงานใน ‘ครัวเปิด’ เพื่อเผยเสน่ห์ของตัวละครผู้รับบทบาทเป็นเชฟ ขณะประกอบอาหารต่อหน้าลูกค้า 

หลังจากเทรนด์การออกแบบห้องอาหารแบบครัวเปิดได้รับความนิยมมากขึ้น เพราะลูกค้ารู้สึกเหมือนตัวเองได้ดูละคร ผ่านการแสดงอันน่าดึงดูดใจของตัวละครหลักอย่างเชฟและเหล่าลูกมือ ทั้งยังเปิดโอกาสให้ลูกค้าจะได้สัมผัสประสบการณ์แปลกใหม่ชวนสนุกสนาน ผ่านเสน่ห์ท่วงท่า เทคนิคอันแพรวพราว รวมถึงความวุ่นวายเหมือนสงครามย่อมๆ หน้าเตาทำอาหาร ยิ่งมีเซอร์ไพรส์เด็ดตบท้ายยิ่งดี เหมือนได้ดูตอนไคลแม็กซ์อันชวนลุ้นและตื่นตาตื่นใจ รับรองได้เลยว่าลูกค้าหน้าเคาน์เตอร์ครัวเปิดจะรีบบันทึกภาพและวิดีโอ พร้อมส่งสารบอกต่อแก่เพื่อนฝูงทันทีในโซเชียลมีเดีย

ผู้เขียนมองว่าการเล่าเรื่องแบบ ‘ละคร’ นับเป็นเทคนิคอัน ยอดเยี่ยม สามารถนำมาปรับใช้ให้เข้ากับทุกธุรกิจได้ ไม่เว้นแม้แต่แผนกครัวและห้องอาหาร ลองสังเกตพวกรายการวาไรตี้ เกมโชว์ เรียลลิตี้ที่ได้รับความนิยม ต่างหยิบเทคนิคและชั้นเชิงการเล่าแบบละครมาใช้ทั้งนั้น

ครัวเปิด

ยกตัวอย่างให้เห็นภาพกันชัดๆ อย่างรายการประกวดร้องเพลงชื่อดังอย่าง ‘เดอะ มาสก์ ซิงเกอร์’ และ ‘ไอ แคน ซี ยัวร์ วอยซ์ ไทยแลนด์’ ที่วางปมชวนให้คนดูรู้สึกสงสัย ปกปิดที่มาที่ไปของผู้เข้าแข่งขัน วางบทบาทให้ตัวละครหลักได้ทำหน้าที่สืบสวนสอบสวน กว่าจะรู้ว่าความจริงภายใต้หน้ากากนักร้องนั้นเป็นดาราคนใด หรือผู้เข้าแข่งขันทางบ้าน ตกลงแล้วร้องเพี้ยนหรือร้องเพราะกันแน่ ก็เล่นเอาคนดูลุ้นไปตามๆ กัน

เมื่อลองเทียบกลยุทธ์การทำ ‘ครัวเปิด’ กับ ‘ละคร’ พบว่ามีเทคนิคเดียวกัน นั่นคือการเปิดพื้นที่ให้ตัวละครหลักได้ออกมาเล่าเรื่อง ‘ชวนลุ้น’ อย่างน่าสนใจ โดยสิ่งสำคัญที่ต้องยึดไว้ให้มั่น นั่นคือการมีตัวละครแวดล้อม ที่ดี และเหมาะสมเข้ามาสนับสนุน

เชฟปรุงอาหาร ครัวแบบเปิด

และตัวละครแวดล้อมของห้องครัว จะเป็นอย่างอื่นไปได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่ ’เครื่องครัว’ (Kitchenware) ซึ่งต้องให้ความใส่ใจ ในการเลือกสรรนำมาใช้ประกอบอาหารมากๆ เพื่อให้ลูกค้า ซึ่งเปรียบเหมือนผู้ชมรายการ รู้สึกสนุกไปกับการแสดงละครหน้าเคาน์เตอร์ครัวมากที่สุด

สำหรับเทคนิคการเลือกเครื่องครัว เสริมความโดดเด่นขณะ ร่ายมนต์ทำอาหารต่อหน้าผู้ชม ต้องดูว่าเป็นเครื่องครัวที่มีคุณภาพได้มาตรฐานหรือไม่ โดยต้องลองสัมผัสเนื้อวัสดุ เครื่องครัวที่เราต้องการจริงๆ เหมือนการออดิชั่นนักแสดงอย่างไรอย่างนั้น เพื่อให้ตรงกับความต้องการมากที่สุด

นอกจากนี้ แบบของเครื่องครัวยังต้องเข้ากับสไตล์ของห้องอาหารด้วย เหมือนกับการกำหนดแนวละคร ว่าห้องอาหารของโรงแรมคุณอยากเล่าเรื่องแนวดราม่า คอมเมดี้ หรือสืบสวนสอบสวน นั่นแหละ เพราะหลายๆ ห้องอาหารที่ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน ล้วนมีที่มาจากการกำหนดธีมและโทนของห้องอาหารได้อย่างถูกต้อง แปลกใหม่ และโดนใจลูกค้า

ส่งผลให้หลายๆ โรงแรมที่เปิดห้องอาหารใหม่ อาจต้องสั่งสินค้าเครื่องครัวใหม่ให้โรงงานผลิตตามคำสั่งเฉพาะ เพื่อให้เหมาะกับสไตล์และเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนใคร หากเลือกเครื่องครัวไม่เข้ากับธีมห้องอาหาร ผู้ชมก็จะรู้สึกเหมือนดูละครคนละเรื่อง

ดังนั้น อย่าปล่อยให้รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ดำเนินไปคนละทิศละทาง จงสวมบทบาทผู้กำกับ… กำกับทุกองค์ประกอบของห้องอาหารโรงแรมคุณให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และที่สำคัญ เครื่องครัวต้องมีความครบครัน รองรับการประกอบอาหารอันหลากหลาย เอื้อให้ตัวละครหลักอย่างเชฟ ได้แสดงฝีมืออย่างเต็มที่ ผ่านขั้นตอนการทำงานและสื่อสารกันอย่างเป็นระบบ นี่สิ ถึงจะเรียกว่า ‘ตัวแวดล้อม’ ที่สนับสนุนตัวละครหลักได้ดีอย่างแท้จริง!

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *