Sat. Apr 20th, 2024
จุดกระแส ‘โมโต จีพี’ ขับเคลื่อน ‘สปอร์ต ทัวริสซึ่ม’

จุดกระแส ‘โมโต จีพี’ ขับเคลื่อน ‘สปอร์ต ทัวริสซึ่ม’

นับถอยหลังสู่เดือนตุลาคมที่จะถึงนี้กันได้เลย เมื่อความมัน ตื่นเต้น และลุ้นระทึกกำลังจะมาเยือน ‘บุรีรัมย์’ หลังได้รับสิทธิ์ให้จัดรายการแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก (MotoGP) สนามที่ 15 เป็นระยะเวลา 3 ปี ติดต่อกัน ตั้งแต่ปี 2561 – 2563 ณ สนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต

โดยในปีนี้จัดแข่งขันตั้งแต่วันที่ 5-7 ตุลาคม คาดว่าจะมีทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติเดินทางจากทั้งทางรถยนต์ เครื่องบิน และรถไฟมากถึง 2 แสนคน!

ขณะที่ขีดความสามารถในการรองรับด้านโรงแรมและที่พักต่าง ๆ มีการประเมินว่าปัจจุบันที่พักทุกรูปแบบในจังหวัดบุรีรัมย์อยู่ที่ 200 กว่าแห่ง คิดเป็นจำนวนห้องพักราว 5,000 ห้อง สามารถรองรับผู้เข้าพักสูงสุดได้ประมาณ 10,000 คน แน่นอนว่าไม่เพียงพอถูกจองจนหมดตามระเบียบ ทำให้ผู้เข้าชมการแข่งขันโมโตจีพีจำต้องกระจายการเข้าพัก เช็กอินโรงแรมภายในจังหวัดใกล้เคียงเพิ่มเติม

นักท่องเที่ยว ทัวริสซึ่ม

อย่างไรก็ตาม กลุ่มนักลงทุนจากทั้งในท้องถิ่นและกรุงเทพฯ ต่างมองเห็นโอกาสด้านการพัฒนาโรงแรมใหม่ขึ้นมาเพิ่มเติม อย่างกลุ่มทุนใหญ่จากกรุงเทพฯ อาทิ บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือไทยเบฟเวอเรจ ได้ประกาศแผนสร้างโรงแรมใหม่ด้านหน้าสนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต โดยตัวโครงการจะมีขนาดใหญ่ถึง 300 ห้อง อยู่ระหว่างดำเนินการก่อสร้าง ขณะที่บริษัทในเครือซีพี อย่างซีพีแลนด์เองก็สนใจเข้ามาติดต่อขอข้อมูลเพื่อเตรียมก่อสร้างโรงแรมใหม่ในบุรีรัมย์ โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างขออนุญาตก่อสร้าง

ทางธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย หรือ ‘เอสเอ็มอีแบงก์’ จึงได้จับมือกับจังหวัดบุรีรัมย์ ดำเนินโครงการ B-STAY เพื่อสนับสนุนให้ชาวบุรีรัมย์นำห้องว่าง บ้านพัก มาพัฒนาเป็นโฮมสเตย์ ให้ได้มาตรฐานถูกต้องตามเกณฑ์ที่กำหนดและถูกกฎหมาย และต้องการให้เป็นโฮมสเตย์ที่คงวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมเอาไว้ เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางมาร่วมชมการแข่งขันครั้งนี้ โดยให้มาขึ้นทะเบียนกับทางจังหวัด

นอกจากนี้ เอสเอ็มอีแบงก์ยังได้สนับสนุนด้านการสัมมนาอบรมให้ความรู้เรื่องการพัฒนาและยกระดับโฮมสเตย์ให้ได้มาตรฐานในด้านต่าง ๆ เช่น การลงทุน การบริหารจัดการ ความรู้ด้านกฎหมายอาคาร เทคนิคการตกแต่งห้องพัก เพื่อสร้างจุดขายรวมถึงการเพิ่มมูลค่าห้องพักด้วย

สำหรับทางจังหวัด ก็ได้เตรียมจุดกางเต๊นท์สำหรับผู้ที่สนใจเข้าพักแบบนี้ด้วย โดยเตรียมไว้ที่มณฑลทหารบก 26 ที่สนามอบต. และที่สนามขาวกระโดง ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับสนามช้าง อินเตอร์เนชันแนล เซอร์กิต คาดว่าจะรองรับผู้พักกางเต๊นท์ได้กว่า 10,000 คนเลยทีเดียว

สำหรับบัตรเข้าชมโมโตจีพี มีการสนนราคาบัตรเข้าชมโซนกิจกรรม วันละ 500 บาท, บัตรไซด์สแตนด์ 2,000 บาท, บัตรแกรนด์สแตนด์ 4,000 บาท และบัตรวีไอพีราคา 20,000-40,000 บาท โดยบัตรเข้าชมการแข่งขันทั้ง 3 วันถูกจำหน่ายหมดแล้ว เรียกได้ว่า ‘บิ๊กอีเวนต์’ ด้านกีฬาความเร็วงานนี้ มีส่วนช่วยปลุกความตื่นตัวในจังหวัดบุรีรัมย์อย่างมาก ทั้งในแง่ของธุรกิจโรงแรมที่พัก ซึ่งมีกระแสการจองห้องพักล่วงหน้าเข้ามาจำนวนมากจนเต็ม รวมไปถึงร้านอาหารเปิดใหม่เพื่อรองรับผู้เข้าชมการแข่งขัน และธุรกิจบริการด้านอื่น ๆ

หลังจากบุรีรัมย์สร้าง ‘ปรากฏการณ์’ ยกระดับตัวเองเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงกีฬา โดยมีกีฬามอเตอร์สปอร์ต และฟุตบอลเป็นตัวนำ จนกลายเป็นโมเดลการพัฒนาเศรษฐกิจระดับท้องถิ่นที่ใครต่อใครต่างต้องตะลึงและยกให้เป็นกรณีศึกษาที่ควรเอาเยี่ยงอย่าง

การท่องเที่ยวเชิงกีฬา

จากจังหวัดที่แทบจะไม่มีทรัพยากรด้านการท่องเที่ยวเลย นอกจากปราสาทเขาพนมรุ้ง ซึ่งอาจไม่เพียงพอในการดึงดูดผู้คนให้มาเยือน ทำให้คุณเนวิน ชิดชอบตีโจทย์ใหม่ว่าบุรีรัมย์จะโดดเด่นด้านการท่องเที่ยวได้ ไม่ใช่เรื่องของท่องเที่ยวเชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แต่…เป็นการท่องเที่ยวเชิงกีฬาต่างหาก ที่จะเป็นแม่เหล็กให้เกิดกระแสการเดินทางได้มากขึ้นจริง โดยมีแหล่งท่องเที่ยวแบบมนุษย์สร้าง (แมนเมด แอตแทร็กชั่น) มาช่วยดึงดูดอีกแรง

ด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มองว่าควรใช้โอกาสที่จะมีกระแสการเดินทางจากทั้งชาวไทยและต่างชาติมุ่งสู่บุรีรัมย์เรือนแสนคน ด้วยการเพิ่มจำนวนบัตรเข้าชมการแข่งขันโมโตจีพีอีก 10,000 ใบ

โดยททท.ให้ทางจังหวัดบุรีรัมย์เป็นคนประสานงานเชิญชวนนักท่องเที่ยวภายในภาคอีสาน อย่างนครราชสีมา ขอนแก่น สุรินทร์ และร้อยเอ็ด จัดทริปเข้าชมการแข่งขันและท่องเที่ยวบุรีรัมย์ต่อ เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้การท่องเที่ยวอย่างแท้จริง

คุณธเนศวร์ เพชรสุวรรณ์ รองผู้ว่าการด้านสื่อสารการตลาดการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เล่าว่า หนึ่งในสินค้าและบริการท่องเที่ยวที่มาแรงจริง ๆ ในช่วงครึ่งหลังปี 2561 ลากยาวไปจนถึงปี 2562 คือ การท่องเที่ยวเชิงกีฬา (สปอร์ต ทัวริสซึ่ม) โดยมีการแข่งขันรายการ MotoGP ที่ไทยได้สิทธิ์จัดแข่งตั้งแต่ปีนี้จนถึงปี2563 เป็นตัวคิกออฟสำคัญนำเสนอภาพลักษณ์และภาพจำใหม่ ๆ แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เกิดเป็นภาพจำว่าประเทศไทยเป็นเดสติเนชั่นด้านการท่องเที่ยวเชิงกีฬาแห่งใหม่ไม่ได้มีดีแค่สินค้าท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและเชิงธรรมชาติ ซึ่งนักท่องเที่ยวต่างชาติตระหนักดีอยู่แล้วว่าประเทศไทยโดดเด่นและแข็งแรงในเรื่องนี้

สนามแข่งขันรถจักรยานยนต์ทางเรียบชิงแชมป์โลก (MotoGP)

นอกเหนือจากรายการแข่งขันจักรยานยนต์ระดับโลกแล้ว ทาง ททท. มองว่าชนิดกีฬาที่จะรับบทตัวเด่นของการโปรโมทการท่องเที่ยวเชิงกีฬาของไทยให้ถึงฝั่งฝัน อย่างแรกคือ ‘มวยไทย’ เนื่องจากไทยเรามีชื่อเสียงของกีฬาชนิดนี้อยู่แล้วในฐานะต้นกำเนิด และชาวต่างชาติเองก็ให้ความสนใจในการฝึกและชมอย่างต่อเนื่อง สามารถนำไปต่อยอดสู่โครงการต่าง ๆ ทั้งเวทีการแข่งขันภายในประเทศและต่างประเทศต่อไป

อย่างที่ 2 คือ ‘การปั่นจักรยาน’ ซึ่งได้รับความนิยมอยู่แล้ว หลังจากล่าสุดไทยได้สิทธิ์จัดแข่งขันจักรยานรายการดังอย่าง ‘เลแทป ไทยแลนด์ บาย เลอ ตูร์เดอฟร็องส์’ เป็นระยะเวลา 3 ปี มีกำหนดจัดแข่งขันในช่วงปลายปีนี้ที่จังหวัดพังงา ถือเป็นมินิตูร์เดอฟร็องส์ เลยก็ว่าได้ ซึ่งเปิดโอกาสให้นักปั่นสมัครเล่นทั่วไปเข้าแข่งขัน ต่างจากรายการตูเดอร์ฟร็องส์ที่เปิดให้นักปั่นมืออาชีพลงแข่งเท่านั้น

อย่างที่ 3 คือ ‘การแข่งขันวิ่งมาราธอน’ หนึ่งในชนิดกีฬาที่ถือเป็นเทรนด์ใหม่ของโลกในขณะนี้ เห็นได้จากจำนวนจัดอีเวนต์แข่งขันวิ่งมาราธอนทั้งในไทยและต่างประเทศจำนวนมาก

สุดท้ายคือ ‘กอล์ฟ’ ซึ่งเป็นชนิดสินค้าที่โปรโมทมาอย่างต่อเนื่องด้วยไทยมีศักยภาพในหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการจัดแข่งขันรายการใหญ่ ๆ และมีสนามกอล์ฟได้มาตรฐานจำนวนมาก ประกอบกับไทยมีนักกอล์ฟมืออาชีพหลายคนของไทยกำลังมีชื่อเสียงระดับโลก เช่น โปรเมย์- เอรียา จุฑานุกาล ซึ่งททท.ได้ตั้งให้เป็นทูตการท่องเที่ยวเชิงกีฬากอล์ฟไปแล้วก่อนหน้านี้

และนี่คือภาพรวมสิ่งที่เกิดขึ้นในภาคธุรกิจท่องเที่ยวของบุรีรัมย์และการส่งเสริมตลาดเพื่อโปรโมทไทยให้เป็นเดสติเนชั่นในฝันของการท่องเที่ยวเชิงกีฬาอย่างแท้จริง!

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *