Fri. Mar 29th, 2024
โรงแรม

‘โควิด’ บีบโรงแรมดิ้นปรับตัว ดิสรัปตลาดปล่อยเช่ารายเดือน

ก่อนวิกฤติโควิด-19 จะกำเนิด ภาพการแข่งขันที่เราเห็นจนชินตา คือ คอนโดมิเนียมและอพาร์ตเมนต์กระโจนลงสังเวียนท่องเที่ยว ขายห้องพักรายวันแข่งกับโรงแรมจนเกิดสภาวะซัพพลายล้นตลาด (Over Supply) หวังชิงกำลังซื้อจากตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งเติบโตดีต่อเนื่อง

เมื่อดูสถิติย้อนหลังตั้งแต่ปี 2560 ประเทศไทยมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนด้วยจำนวน 35.59 ล้านคน เพิ่มขึ้น 9.4% เมื่อเทียบกับปี 2559 สร้างรายได้ 1.83 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 12.1%

ส่วนปี 2561 มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือน 38.18 ล้านคน เพิ่มขึ้น 7.3% สร้างรายได้ 1.87 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.5%

ขณะที่ปี 2562 ทำนิวไฮทั้งในเชิงจำนวนและรายได้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยมากถึง 39.92 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.56% สร้างรายได้ 1.91 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 1.9%


“โรงแรม” ดิ้นปรับตัว วิกฤตยาว ! หันปล่อยเช่ารายเดือน

“โนโวเทล” ศรีราชาอัดโปรฯ แข่งห้องเช่ารายเดือนสู้วิกฤต


ในปี 2563 ตามเป้าหมายของรัฐบาล เดิมต้องการเห็นยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทย 41.78 ล้านคน เพิ่มขึ้น 4.66% สร้างรายได้ 2.22 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 16.24% เมื่อเทียบกับปีก่อน แต่พอวิกฤติโควิด-19 ระบาดหนัก กัดกินอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและการเดินทางทั่วโลกจนตกอยู่ในสภาพสาหัส ลากยาวนานกว่า 1 ปี นับตั้งแต่ปลายเดือนมกราคม 2563 ที่รัฐบาลจีนประกาศสั่งห้ามบริษัทท่องเที่ยวนำนักท่องเที่ยวจีนออกนอกประเทศ ทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทยตลอดปี 2563 อยู่ที่ 6.69 ล้านคน ลดลงมากถึง 83% เมื่อเทียบกับปีก่อน สร้างรายได้เพียง 3.32 แสนล้านบาท ลดลง 82%

ขณะที่เป้าหมายปี 2564 การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตั้งเป้าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติไว้ที่ 10 ล้านคน สร้างรายได้ 5 แสนล้านบาท โดยคาดการณ์ว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเริ่มฟื้นตัว เดินทางเข้าไทยในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ โดยขึ้นกับปัจจัยการเข้าถึงวัคซีนป้องกันโควิด-19 ของทั้งชาวไทยและต่างชาติ

เมื่อกำลังซื้อจำกัด เหลือเฉพาะ ‘ตลาดในประเทศ’ และกว่าตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติจะกลับมาเที่ยวไทยเป็นปกติ 100% หลายสำนักเศรษฐกิจต่างคาดการณ์ตรงกันว่าน่าจะใช้เวลาอีก 2 ปี ซึ่งตรงกับปี 2566 ทำให้โรงแรมหลายแห่ง โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ ต้องพลิกไอเดียหาช่องทางดึงรายได้ใหม่ ๆ จากเดิมยึดติดการขายห้องพักรายวันแก่นักท่องเที่ยว เปลี่ยนบทบาทมาเป็นฝ่าย ‘ดิสรัปต์’ (Disrupt) ตลาดปล่อยห้องเช่ารายเดือน แข่งกับคอนโดมิเนียมและอพาร์ตเมนต์บ้าง ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังไม่คลี่คลาย

แน่นอนว่าปัจจัยที่ทำให้โรงแรมหลายแห่งต้องดิ้นปรับตัว หันมาเสนอทางเลือกใหม่ให้เช่าห้องพักรายเดือนแก่ลูกค้าในประเทศแทน ระหว่างรอตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้น มาจาก ‘อัตราเข้าพัก’ (Occupancy Rate) ที่อยู่ในภาวะลูกผีลูกคน!

จากข้อมูลของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่าอัตราเข้าพักเฉลี่ยรวมทั้งประเทศเมื่อปี 2563 อยู่ที่ 29.62% พ้นจุดวิกฤติ (หมายถึงอัตราเข้าพักเฉลี่ยต่ำที่สุดที่ทำให้ระดับผลกำไรของโรงแรมเท่ากับศูนย์) ซึ่งอยู่ที่ 27.87% มาเพียงเล็กน้อย

เมื่อเจาะเฉพาะพื้นที่ ‘กรุงเทพฯ’ พบว่ามีอัตราเข้าพักเฉลี่ยตลอดปี 2563 เพียง 27.28% ยังตกอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง เพราะต่ำกว่าจุดวิกฤติซึ่งอยู่ที่ 34.48% ขณะที่ภาคเหนือ มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยปี 2563 อยู่ที่ 38.42% (จุดวิกฤติ 25.07%), ภาคกลาง มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยที่ 27.28% (จุดวิกฤติ 26.08%), ภาคตะวันออก มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยที่ 28.48% (จุดวิกฤติ 28.85%), ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยที่ 33.81% (จุดวิกฤติ 24.18%) และภาคใต้ สถานการณ์เข้าพักวิกฤติหนัก มีอัตราเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 21.43% (จุดวิกฤติ 28.23%)

สำหรับโรงแรมที่เป็น‘ผู้ปลุกกระแส’ การจัดโปรโมชันภายใต้แนวคิด ‘อยู่โรงแรมแต่จ่ายราคาถูกกว่าเช่าหอพัก’ คือ โรงแรมอีสติน มักกะสัน กรุงเทพฯ ระดับ 4 ดาว ซึ่งนำห้องพักมาจัดโปรโมชันให้เช่าระยะยาว โดยเริ่มยิงโปรฯ เมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563

ล่าสุดราคาโปรโมชันห้องพักระยะยาวของโรงแรมอีสติน มักกะสัน กรุงเทพฯ เริ่มต้นที่ 7,120 บาทต่อเดือน พร้อมเข้าอยู่ได้ทันที รับสิทธิประโยชน์มากมาย ฟรีค่าน้ำค่าไฟ ฟรีสัญญาณอินเทอร์เน็ตไร้สาย รับชุดต้อนรับในวันที่เช็กอิน (ผ้าเช็ดตัว 2 ผืน สบู่ 1 ก้อน เจลอาบน้ำ 1 ขวด แชมพู 1 ขวด) นอกจากนี้ยังมีส่วนลด 30% สำหรับค่าอาหารและเครื่องดื่ม ส่วนลด 10% สำหรับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

ขณะที่สิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ เครื่องปรับอากาศ สระว่ายน้ำ ห้องออกกำลังกาย บริการช่องสัญญาณทีวี 32 ช่อง ตู้มินิบาร์ รถรับส่งระหว่างโรงแรมและสถานีรถไฟฟ้า (4 รอบต่อวัน) ระบบรักษาความปลอดภัย 24 ชั่วโมง ไมโครเวฟในพื้นที่ส่วนกลาง เครื่องซักผ้าและเครื่องอบผ้าในพื้นที่ส่วนกลาง เครื่องจำหน่ายสินค้าอัตโนมัติ อีกทั้งยังได้รับรองด้านมาตรฐานสุขอนามัยด้วยตราสัญลักษณ์ SHA โดยลูกค้าจ่ายค่ามัดจำเพื่อประกันความเสียหายเพียงครั้งเดียว

ด้าน คุณภัทรชัย ทวีวงศ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและการสื่อสาร คอลลิเออร์ส อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย กล่าวว่า ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เนื่องจากต้องพึ่งพาตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติซึ่งยังไม่สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้โดยปกติ

“ทำให้โรงแรมหลายแห่งต้องปิดตัวลงชั่วคราว บางโรงแรมประกาศปิดกิจการถาวร ขณะที่บางโรงแรมมีการปรับตัว เช่น ปล่อยเช่ารายเดือน และให้เช่าห้องพักเพื่อเป็นสถานกักตัวของรัฐ เพื่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการและพนักงาน ที่ต้องร่วมกันก้าวผ่านวิกฤติครั้งนี้ไปด้วยกัน”

ขอบคุณรูปภาพโดย :

123rf.com

ming dai จาก Pixabay (davidlee770924)

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *