Wed. Apr 24th, 2024
เศรษฐกิจโลกกับภาวะ ‘VUCA’ ชีพจรแห่งความไม่แน่นอน

เศรษฐกิจโลกกับภาวะ ‘VUCA’ ชีพจรแห่งความไม่แน่นอน

ปัจจัยร้อนที่ไม่ว่าใครก็ต้องจับตาชั่วโมงนี้ หนีไม่พ้นภาวะเอาแน่เอานอนไม่ได้ของ ‘เศรษฐกิจโลก’ และจากการประเมินของหน่วยงานรัฐด้านเศรษฐกิจและภาคธุรกิจทุกอุตสาหกรรม มองตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้ยังเติบโตก็จริง แต่เป็นการเติบโตแบบชะลอตัว แล้วภาคท่องเที่ยวของไทยล่ะเป็นอย่างไร?

คุณทิตนันท์ มัลลิกามาส ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวบนเวทีของสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว บ้านใกล้เรือนเคียงของสมาคมโรงแรมไทย ในหัวข้อ ‘ทิศทางเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวไทยปี 2562’ ว่า ปีนี้เศรษฐกิจโลกโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลง แต่ส่วนใหญ่ยังขยายตัวสูงกว่าระดับศักยภาพ ทว่าจะเข้าสู่ภาวะ ‘VUCA’ หมายถึง ภาวะที่มีความผันผวนสูง ไม่แน่นอน และไม่สามารถคาดการณ์เหตุการณ์ต่าง ๆ ได้

แน่นอนว่าปัจจัยหลักมาจาก ‘สงครามการค้า’ ของประเทศมหาอำนาจระหว่างจีนกับสหรัฐอเมริกา แม้ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯ และจีนจะผ่อนคลายลงบ้างในระยะสั้น หลังการประชุม G20 ก็ตาม โดยนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ จะส่งผลให้เศรษฐกิจจีนอาจชะลอตัวลงในปีนี้ อย่างไรก็ดี ประเมินว่าไม่น่าจะชะลอมาก เพราะทางการจีนน่าจะมีมาตรการสนับสนุนเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่การถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร (Brexit) ก็เป็นอีกปัจจัยที่ต้องจับตา เพราะอาจก่อความไม่แน่นอนแก่เศรษฐกิจในสหภาพยุโรปมากขึ้น ทั้งนี้ คาดการณ์ว่าภาพรวมเศรษฐกิจยุโรปน่าจะเกิดการชะลอตัวตามการส่งออกจากภาวะการค้าโลก และความเชื่อมั่นที่ลดลงจากปัญหาการเมืองในหลายประเทศ อย่างไรก็ดี อัตราการขยายตัวยังสูงกว่าระดับศักยภาพ

เศรษฐกิจโลกกับภาวะ ‘VUCA’ ชีพจรแห่งความไม่แน่นอน

ค่าเงินยังคงผันผวน

ความผันผวนของเศรษฐกิจโลกจึงกดดัน ‘ค่าเงินบาท’ ให้เผชิญกับความผันผวนมากขึ้น เพราะเมื่อดูช่วงต้นปี ค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่ที่ระดับ 31 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ก่อนจะอ่อนค่ามาอยู่ที่ 33.50 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐในไตรมาส 3 ปี 2561 แต่ก็ถือว่าไม่ได้อ่อนค่ามากนัก เมื่อเทียบกับค่าเงินในภูมิภาคและบางประเทศที่ค่าเงินอ่อนค่ารุนแรง จากปัจจัยความเปราะบางในประเทศ

ขณะที่ประเทศไทยถือว่ามีเสถียรภาพค่อนข้างเข้มแข็ง จากทุนสำรองระหว่างประเทศที่อยู่ในระดับสูง และดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล ทำให้ค่าเงินบาทของไทยแม้จะอ่อนค่า แต่ก็ไม่ได้อ่อนค่ามากนัก อย่างไรก็ตาม ภาคธุรกิจต้องตั้งรับให้ดี เพราะสถานการณ์ความผันผวนจะไม่หยุดแค่ปีนี้ แต่จะผันผวนอย่างนี้ต่อไปในอีกหลายปีข้างหน้า

เมื่อปัจจัยเศรษฐกิจโลกส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจในภาพรวม แน่นอนว่าธุรกิจท่องเที่ยวเองก็หลบเลี่ยงไม่ได้ การบริหารจัดการเพื่อรับมือกับความเสี่ยงทางธุรกิจและการเงินจึงเป็นสิ่งสำคัญมาก โดยผู้ประกอบการสามารถหันไปใช้สกุลเงินท้องถิ่นสำหรับการค้าขายในภูมิภาคอาเซียน หรือจะเป็นการเปิดบัญชีเงินตราต่างประเทศ ถือเป็นเครื่องมือที่จะช่วยลดความผันผวนเรื่องค่าเงินได้ในระดับหนึ่ง

คุณทิตนันท์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้านภาพรวมเศรษฐกิจไทย ธปท. คาดว่าปี 2562 จีดีพีจะขยายตัวที่ 4% แม้จะชะลอตัวลงเมื่อเทียบกับปีที่แล้วซึ่งขยายตัวอยู่ที่ 4.2% แต่ก็ยังถือว่าดีกว่าในอดีตค่อนข้างมาก เพราะได้ ‘แรงส่ง’ จาก ‘อุปสงค์ภายในประเทศ’ แม้ว่า ‘อุปสงค์ต่างประเทศ’ จะ ‘ชะลอ’ ลงก็ตาม

เมื่อลงลึกในรายละเอียดของอุปสงค์ภายในประเทศ ตัวแปรแรกอย่างการบริโภคของภาคเอกชน คาดมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง ตามรายได้นอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น และกระจายตัวมากขึ้น ประกอบกับมีมาตรการสนับสนุนเพิ่มเติมจากภาครัฐ

การลงทุนของภาคเอกชน ประเมินว่าน่าจะขยายตัวสูงขึ้นเช่นกัน จากโครงการลงทุนภาครัฐที่ชัดเจนมากขึ้น รวมถึงการลงทุนย้ายฐานการผลิตมาไทย ขณะที่การใช้จ่ายของภาครัฐ ยังเป็นแรงส่งเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่มีความชัดเจน แม้บางโครงการจะล่าช้าไปบ้างจากข้อจำกัดด้านการเบิกจ่าย

ด้านอุปสงค์ต่างประเทศ ตัวแปรหลักอย่างการส่งออกสินค้า คาดการณ์ว่าจะขยายตัวต่ำลง ตามเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก วัฏจักรสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่มีแนวโน้มชะลอลง รวมทั้งได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมของสงครามการค้า

เศรษฐกิจโลกกับภาวะ ‘VUCA’ ชีพจรแห่งความไม่แน่นอน

ท่องเที่ยวขยายตัวเล็กน้อย

ฟากการท่องเที่ยว ยังมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่อง แต่ไม่สูงเท่าในอดีต จากเศรษฐกิจตลาดหลักชะลอตัว โดยตลาด ‘นักท่องเที่ยวจีน’ มีแนวโน้มฟื้นตัวอย่างช้า ๆ รวมถึงข้อจำกัดด้านอุปทาน โดยปัจจุบันสนามบินส่วนใหญ่ของบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. รองรับผู้โดยสารเกินขีดความสามารถในการรองรับทั้งขาเข้าและขาออก ทั้งจากเที่ยวบินระหว่างประเทศและในประเทศ

เมื่อลงลึกถึงตัวเลขขีดความสามารถในการรองรับของสนามบินหลักอย่างสุวรรณภูมิแล้ว พบว่าอยู่ที่ 45 ล้านคนต่อปี แต่ปัจจุบันมีปริมาณผู้โดยสารใช้งานจริงที่ 59.1 ล้านคนต่อปี และตามแผนการขยายสนามบินสุวรรณภูมิของ ทอท. จะสามารถรองรับผู้โดยสารได้เพิ่มเป็น 60 ล้านคนในปี 2563, 90 ล้านคนในปี 2564, 105 ล้านคนในปี 2569 และ 150 ล้านคนในปี 2573

ขณะที่สนามบินดอนเมือง ขีดความสามารถในการรองรับอยู่ที่ 30 ล้านคนต่อปี แต่ปัจจุบันมีปริมาณผู้โดยสารใช้งานจริงที่ 37.2 ล้านคนต่อปีแล้ว โดยตามแผนพัฒนาของ ทอท. จะขยายขีดความสามารถในการรองรับได้เพิ่มเป็น 40 ล้านคนในปี 2567

“แม้ความเสี่ยงที่อาจทำให้เศรษฐกิจไทยขยายตัวต่ำกว่าที่ประเมิน จะมาจากความเสี่ยงด้านต่างประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯ กับจีน หรือสงครามการค้า แต่ภาคท่องเที่ยวจะยังเป็นเครื่องยนต์สำคัญต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ด้วยสัดส่วนมากกว่า 10% ของจีดีพี และแนวโน้มสัดส่วนมีแต่จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทำให้ภาคท่องเที่ยวมีบทบาทสำคัญมากขึ้นต่อเศรษฐกิจไทยไม่แพ้ภาคอื่น ๆ” คุณทิตนันท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการสายนโยบายการเงิน ธปท. ย้ำ


ขอบคุณข้อมูลจาก : นิตยสาร Thai Hotels & Travel Vol.9 No.54

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *