Fri. Mar 29th, 2024
เมืองหลวงอาหารแห่งเอเชีย

เมืองหลวงอาหารแห่งเอเชีย

ควันหลงของการประกาศผลร้านอาหารในกรุงเทพฯ ที่ได้รับคัดเลือกลง ‘มิชลิน ไกด์’ หนังสือคู่มือแนะนำร้านอาหารที่ทรงอิทธิพลระดับโลกเมื่อวันที่ 6 ธันวาคม ปี 2560 ยังคงได้รับการพูดถึงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ที่เหล่านักชิมตัวยงหลายๆ คนดูจะเห่อเป็นพิเศษ

ผู้เขียนขออนุญาตสรุปให้ฟังกันอีกครั้งว่าร้านอาหารในกรุงเทพฯ ที่ได้รับคัดเลือกลงในหนังสือมิชลิน ไกด์บุ๊ก รวมๆ แล้วมีทั้งหมด 98 ร้าน แบ่งเป็น ร้านอาหาร 2 ดาวมิชลิน (ร้านอาหารที่อร่อยเป็นพิเศษ คุ้มค่ากับการขับรถออกนอกเส้นทางเพื่อแวะชิม) จำนวน 3 ร้าน ร้าน 1 ดาวมิชลิน (ร้านอาหารที่อร่อยมากเมื่อเทียบกับร้านอาหารประเภทเดียวกัน) จำนวน 14 ร้าน ร้านอาหารรางวัล บิบ กูร์มองต์ : Bib Gourmand (รางวัลที่มอบให้กับร้านอาหารที่นำเสนออาหารคุณภาพในราคาคุ้มค่าไม่เกิน 1,000 บาท) จำนวน 35 ร้าน ส่วนที่เหลือจัดอยู่ในหมวดที่ได้มาตรฐานมิชลินเพลท (ร้านอาหารคุณภาพดีที่ใช้วัตถุดิบสดใหม่และปรุงอย่างพิถีพิถัน)

อาหารเอชีย

โดยทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ‘ททท.’ วางเป้าหมายไว้ชัดเจนว่ามีแผนยกระดับภาพลักษณ์ประเทศไทย สู่การเป็น ‘เมืองหลวงอาหารแห่งเอเชีย’ ภายใน 5 ปีนับจากนี้ ไฮไลท์หลักคือความร่วมมือกับมิชลิน ซึ่งเป็นแบรนด์ที่ได้รับการยอมรับเข้าขั้นทรงอิทธิพลของวงการอาหารโลก หลายๆ คนตัดสินใจเดินทางตามรอยไกด์บุ๊ก เพราะเฝ้าฝันว่าจะได้ลิ้มชิมรสมืออาหารของเชฟระดับมิชลินสตาร์สักครั้ง

คุณกลินท์ สารสิน ประธานคณะกรรมการ ททท. บอกว่า จากการสำรวจความคิดเห็นนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนประเทศไทย พบว่า กว่า 86% ระบุชัดว่าอยากรับประทานอาหารไทย โดยปัจจุบันค่าใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวต่อคน ครองสัดส่วนอยู่ที่ 20% เท่ากับค่าใช้จ่ายด้านชอปปิง

“นอกเหนือจากการประกาศผลรางวัลแล้ว สิ่งสำคัญที่ ททท. หวังจากการที่ผู้ตรวจสอบอาหารของมิชลินเข้ามารวบรวมและประเมินร้านอาหารที่ได้มาตรฐานตามเกณฑ์ต่างๆ จะช่วยหนุนให้ร้านอาหารไทยเกิดความตื่นตัวเป็นวงกว้าง ในการปรับปรุงคุณภาพอาหารและบริการของตัวเอง เพื่อยกระดับและสามารถคว้ามาตรฐานของมิชลิน และถูกบรรจุชื่ออยู่ในมิชลินไกด์”

คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. เล่าเสริมว่า กลุ่มร้านอาหารริมทาง หรือ “สตรีทฟู้ด” คือหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่ททท.ต้องการกระตุ้นให้เห็นถึงโอกาสนี้ เหมือนอย่างที่ร้าน ‘เจ๊ไฝ’ ได้รับรางวัล 1 ดาวมิชลินมาแล้วในการจัดโครงการปีแรก

โดยในมิชลินไกด์ กรุงเทพฯ มีการแนะนำร้านอาหารริมทางจำนวน 28 ร้าน ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ลงในฉบับปฐมฤกษ์นี้ด้วย ซึ่งตรงกับโจทย์ของ ททท.ที่ต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวเชิงอาหาร ชูให้เห็นถึงเสน่ห์และความหลากหลายของการรับประทานอาหารในแบบฉบับท้องถิ่น อย่างสตรีทฟู้ดของไทยล่าสุดก็ได้รับการจัดอันดับความนิยมติด 1 ใน 3 ของโลก

“แม้ในปีแรกที่ประกาศผลจะยังไม่มีร้านอาหารใดในกรุงเทพฯ ได้ 3 ดาวมิชลิน ซึ่งเป็นมาตรฐานที่สูง มอบให้กับร้านอาหารที่อร่อยยอดเยี่ยมและโดดเด่น ควรค่าแก่การเดินทางไกลเพื่อไปชิมสักครั้ง แต่เชื่อว่านับจากนี้ไป ร้านอาหารต่างๆ จะเร่งเรียนรู้และปรับตัว โดยศึกษาจากร้านที่เคยได้รับมาตรฐานดาวมิชลินในปีนี้”

อาหารไทย

ด้านโครงการในอีก 4 ปีนับจากนี้ จะกระจายการจัดทำมิชลินไกด์ในต่างจังหวัด หลังได้เปิดตัวเป็นปีแรกในกรุงเทพฯ ไปแล้ว เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้จ่ายและกระจายรายได้ไปในภูมิภาค เช่น เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นลำดับถัดไป สอดรับกับนโยบายของรัฐบาล พร้อมคาดหวังว่าซัพพลายเชนของระบบธุรกิจอาหารทั้งหมดในไทย จะได้รับการยกระดับมาตรฐาน ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบคุณภาพของเกษตรกร ก่อนส่งถึงมือร้านอาหารอีกทอด ตอกย้ำชื่อเสียงและความจริงจังในการทำตลาดเรื่องอาหาร สู่เป้าหมายการเป็นเมืองหลวงอาหารแห่งเอเชีย ซึ่งปัจจุบันหลายๆ ประเทศต่างพัฒนาตัวเองเพื่อมุ่งสู่ตำแหน่งนี้ ไม่ว่าจะเป็น ญี่ปุ่น ซึ่งเป็นร้านอาหารที่ได้ดาวมิชลินมากที่สุด รวมไปถึงชาติอื่นๆ เช่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน อินโดนีเซีย และเวียดนาม”

นอกเหนือจากโครงการมิชลิน ททท.ยังได้ร่วมมือกับไกด์บุ๊กด้านอาหารอีกแบรนด์ที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ของยุโรป นั่นคือ ‘โกลต์ แอนด์ มีโย’ (Gault&Millau) ซึ่งมียอดพิมพ์กว่า 3.5 หมื่นเล่ม และเจาะกลุ่มนักท่องเที่ยวตลาดไฮเอนด์ในเนเธอร์แลนด์ เบลเยียม ลักเซมเบิร์ก ในการจัดทำฉบับแทรกคู่มือด้านอาหารไทยภายใต้ชื่อ ‘เทสตี้ ไทยแลนด์’ จำนวน 78 หน้า ขณะเดียวกัน ยังได้จับมือกับ ‘Gurunavi’ เสิร์ชเอนจิ้นด้านอาหารชื่อดังในญี่ปุ่นซึ่งเป็นชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทยกว่า 1.4 ล้านคนต่อปี เพื่อโปรโมทอาหารไทยเพิ่มเติม

ผัดไทย

ทั้งนี้ ในเดือนพฤษภาคม 2561 นี้ ไทยเตรียมเป็นเจ้าภาพจัดงาน UNWTO World Forum on Gastronomy Tourism ครั้งที่ 4 ซึ่งเป็นการประชุมนานาชาติด้านการท่องเที่ยวเชิงอาหารขององค์การท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติอีกด้วย

ทั้งหมดนี้คือความเคลื่อนไหวชัดๆ จากฝั่งหน่วยงานภาครัฐที่เร่งโปรโมทการท่องเที่ยวเชิงอาหารของไทยให้กลับมาคึกคักอีกครั้ง

ขณะที่ฟากภาคเอกชน ความเคลื่อนไหวที่น่าสนใจไม่น้อย เห็นจะเป็นการเปิดตัวของ ‘ดินเนอร์ อินเดอะสกาย ประเทศไทย’ เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ด้วยการนำเสนอปรากฏการณ์อาหารค่ำสุดหรูลอยฟ้าครั้งแรกในประเทศไทย เพื่อต้อนรับลูกค้าและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างชาติ ให้ร่วมสัมผัสกับประสบการณ์ดินเนอร์ลอยฟ้ากับมื้ออาหารสุดหรู จัดเตรียมโดยเชฟชื่อดังจากเชอราตัน แกรนด์ สุขุมวิท บนความสูงเหนือระดับหนึ่งเดียวในโลก ซึ่งได้รับการรับรองความปลอดภัยระดับโลกตามมาตรฐาน TUV ของเยอรมนี และได้ร่วมดื่มด่ำกับทัศนียภาพอันงดงามเหนือท้องฟ้า ณ ใจกลางกรุงเทพฯ บนพื้นที่กว่า 1,000 ตารางเมตร ระหว่างดิ เอ็มโพเรี่ยม และไดโนซอร์ แพลนเน็ต โดยใช้เครนเทเลสโคปิคจากยุโรปน้ำหนัก 200 ตัน ทำหน้าที่ยกชุดโต๊ะอาหารพร้อมแขกทั้ง 22 ท่าน บนเก้าอี้รัดเข็มขัดนิรภัยให้ลอยขึ้นกลางอากาศ ให้แขกได้เพลิดเพลินกับบริการอาหารดินเนอร์มื้อหรูแบบ 4 คอร์ส ระดับ 5 ดาวร่วมกัน

Street Food

คุณฟริโซ พอลเดอร์วาร์ต ผู้บริหารจากดินเนอร์ อินเดอะสกาย ประเทศไทย กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับการกล่าวขานว่าเป็นผู้นำในเอเชียสำหรับนักเดินทางที่แสวงหาประสบการณ์มื้ออาหารรสเลิศทุกรูปแบบ แต่ดินเนอร์ อินเดอะสกาย จะเป็นการรับประทานอาหารมื้อหรูแบบไฮเอนด์ที่เสิร์ฟเหนือระดับพื้นดินเป็นครั้งแรก นวัตกรรมใหม่นี้จะนำแขกทุกท่านให้ได้ประสบการณ์รับประทานอาหารลอยฟ้า ซึ่งเราภูมิใจอย่างยิ่งที่จะได้กล่าวว่า เป็นครั้งแรกที่ดินเนอร์ อินเดอะสกาย เป็นปรากฏการณ์ระดับโลกที่จะได้เปิดตัวในประเทศไทย

เรียกได้ว่าตลอดปี 2561 น่าจะเป็นปีที่ภาพของธุรกิจร้านอาหารมีการปรับตัวและแข่งขันกันมากขึ้นอย่างแน่นอน สอดรับกับเทรนด์การใช้จ่ายด้านอาหารในไทยที่มีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เห็นแบบนี้แล้ว ผู้ประกอบการห้องอาหารในโรงแรมอย่าได้น้อยหน้า เร่งพัฒนาและยกระดับคุณภาพอาหารและบริการโดยด่วน ขับดันให้เป็นเสน่ห์สำคัญดึงดูดลูกค้ามาใช้บริการโรงแรมอย่างไม่ขาดสาย!

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *