Thu. Apr 18th, 2024
ท่องเที่ยว

สถานีต่อไป…’เปิดประเทศ’?! รัฐยันเดินเครื่องต่อ ไม่รอโควิด-19 หมดไปจากโลก

ท่ามกลางความกังวลต่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของ ‘โควิด-19’ ระลอกที่ 3 ภายในประเทศ ก่อให้เกิดคำถามจากผู้ประกอบการโรงแรมและท่องเที่ยวว่า แผน ‘เปิดประเทศ’ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติตามไทม์ไลน์ที่รัฐบาลได้ประกาศก่อนหน้านี้ จะยังไปต่อ…หรือพอแค่นี้?!

ข้อกังขาดังกล่าว ทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้ยืนยันชัดว่า แผนการเปิดประเทศนั้นจะยังไปต่อ รับนักท่องเที่ยวต่างชาติตาม Road Map เดิมของรัฐบาล

แน่นอนว่า โครงการที่ถูกจับตามองมากที่สุด คือ ‘ภูเก็ต ทัวริสซึ่ม แซนด์บ็อกซ์’ (Phuket Tourism Sandbox) ซึ่งจะเริ่มวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ว่าจะประสบความสำเร็จตามที่ภาครัฐและเอกชนต่างคาดหวังหรือไม่

คาดหวังที่จะฟื้นรายได้การท่องเที่ยวเจ้าของฉายา ‘ไข่มุกอันดามัน’ ซึ่งเคยสร้างมูลค่าสูงถึง 4.7 แสนล้านบาทต่อปีกลับมา และเมื่อคำนวณแล้วพบว่าครองสัดส่วนมากถึง 15% ของรายได้รวมการท่องเที่ยวไทยจากทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ 3 ล้านล้านบาท เมื่อปี 2562 ก่อนอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยจะรู้จักคำว่า ‘โควิด-19’

หลังจากภูเก็ตได้รับการผลักดันจากภาครัฐให้เป็นพื้นที่นำร่องแห่งแรกของประเทศไทย รับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบแล้วแบบ ‘ไม่กักตัว’ ในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยต้องมีผลตรวจโควิด-19 เป็นลบก่อนบินตรงเข้าภูเก็ตและตรวจหาเชื้ออีกครั้งเมื่อเดินทางมาถึง

ที่สำคัญ… กาดอกจันตัวโต ๆ ต้องอยู่ในภูเก็ตหรือทำกิจกรรมท่องเที่ยวในเส้นทางที่กำหนด (Sealed Route) อย่างน้อย 7 คืน ก่อนออกเดินทางไปยังพื้นที่อื่น ๆ ในประเทศไทย ทั้งนี้มีการใช้มาตรการป้องกันควบคู่ เช่น ใบรับรองการฉีดวัคซีน (Vaccine Certification) และแอฟพลิเคชันแจ้งเตือน

ส่วนอีก 5 พื้นที่ท่องเที่ยวสำคัญอย่าง กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย-พะงัน-เต่า) ชลบุรี (พัทยา) และเชียงใหม่ ทางรัฐบาลเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบแล้วต้องการเดินทางไปยังพื้นที่เหล่านี้ในไตรมาส 3 แต่ยังต้องกักตัวในโรงแรมเป็นเวลา 7 คืนหรืออยู่ท่องเที่ยวใน Sealed Route ก่อนออกเดินทางไปยังพื้นที่อื่น ๆ

ก่อนจะยกระดับทั้ง 5 พื้นที่นี้เป็นพื้นที่นำร่องรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบแล้วแบบไม่กักตัว รวมกับภูเก็ตเป็น 6 พื้นที่นำร่องในไตรมาส 4 นี้ เริ่มวันที่ 1 ตุลาคม 2564 โดยเงื่อนไขสำคัญ คือ นักท่องเที่ยวยังต้องอยู่ในพื้นที่นำร่องอย่างน้อย 7 คืนก่อนออกเดินทางไปพื้นที่อื่น ๆ ในไทย

นอกเหนือจาก 6 พื้นที่นำร่องที่รัฐบาลเห็นชอบแล้ว เพื่อให้สอดรับกับแผนการเร่งฉีดวัคซีนแก่คนไทยเพิ่มเป็น 100 ล้านโดส ครบ 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้ ครอบคลุม 70% ของประชากร ล่าสุดทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเตรียมเสนอต่อที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พิจารณาเพิ่มพื้นที่นำร่องในไตรมาส 4 นี้อีก 4 พื้นที่ใหม่ ซึ่งล้วนเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญเช่นกัน คือ กรุงเทพฯ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และบุรีรัมย์

สำหรับบุรีรัมย์ เหตุผลที่ถูกพ่วงเป็น 1 ใน 4 จังหวัดพื้นที่นำร่องเพิ่มเติม เนื่องจากในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้ จะมีการจัดการแข่งขันโมโตจีพีซึ่งเป็นอีเวนท์ใหญ่ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดว่าตลอด 3 วันของการแข่งขันในปีนี้จะมีผู้เข้าชมทั้งหมดไม่ต่ำกว่า 2 แสนคน และมีผู้ชมชาวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบแล้วเข้าชมที่สัดส่วน 22% เท่ากับผู้ชมชาวต่างชาติเมื่อปี 2562 ซึ่งอยู่ที่กว่า 5.7 หมื่นคน จากจำนวนผู้เข้าชมทั้งหมดรวม 2.6 แสนคน สร้างมูลค่าเศรษฐกิจกว่า 4.3 พันล้านบาท

ส่งผลให้ในไตรมาส 4 ปีนี้ ประเทศไทยจะมีพื้นที่นำร่องรวม 10 พื้นที่ ในการรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มฉีดวัคซีนครบแล้วแบบไม่กักตัว ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ประเมินว่า มีความต้องการวัคซีน 32 ล้านโดส สำหรับประชากร 16 ล้านคน คิดเป็น 70% ของประชากรทั้งหมดใน 10 จังหวัด ตามกฎการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ก่อนจะเดินหน้าสู่สเต็ปการเปิดประเทศ ‘เต็มทุกพื้นที่’ แบบไม่กักตัว ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นไป ตามไทม์ไลน์ของรัฐบาล ซึ่งถือเป็นช่วงที่ทุกฝ่ายต่างคาดหวังว่าภาคท่องเที่ยวไทยจะกลับมาฟื้นตัวเป็นปกติเหมือนช่วงก่อนเจอวิกฤตโควิด-19 แต่ก็ยังขึ้นกับสถานการณ์หลาย ๆ อย่าง เช่น วัคซีน และปัจจัยอื่น ๆ ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า เพราะอย่างที่รู้กันว่าโควิด-19 มักจะพกพาคำว่า ‘ไม่แน่นอน’ ให้ผู้ประกอบการต้องกุมขมับอยู่เสมอ

สำหรับเป้าหมายการสร้างรายได้รวมจากการท่องเที่ยวในปี 2565 ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ยังคงเป้าหมายเดิมที่ 2.5 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 1.3 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 20.8 ล้านคน ขณะที่รายได้จากตลาดในประเทศ 1.2 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยวไทย 180 ล้านคน-ครั้ง

ขณะที่เป้าหมายการสร้างรายได้รวมการท่องเที่ยวในปี 2564 ล่าสุดเมื่อปลายเดือนเมษายนที่ผ่านมา ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้ปรับลดเป้าหมายรายได้รวมปีนี้เหลือเพียง 8.5 แสนล้านบาท ลดลงจากเป้าหมายเดิมซึ่งตั้งไว้ที่ 1.2 ล้านล้านบาท แบ่งออกเป็นตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติ เดิมปีนี้ตั้งเป้ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเที่ยวไทย 6.5 ล้านคน ปรับลดเหลือ 3-4 ล้านคน สร้างรายได้ 3 แสนล้านบาท ส่วนตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ เดิมตั้งเป้านักท่องเที่ยวคนไทยตลอดปีนี้ไว้ที่ 160 ล้านคน-ครั้ง ปรับลดลงเหลือ 100-120 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 5.5 แสนล้านบาท

หลังอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบเต็ม ๆ จากการระบาดของโรคโควิด-19 ตั้งแต่ระลอกที่ 2 เมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา จนถึงระลอกที่ 3 ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ จะยืดเยื้อ กินเวลายาวนานอย่างที่หลายคนกังวลหรือไม่นั้น ตอบได้คำเดียวว่า… สุดจะคาดการณ์ได้!!

ขอบคุณรูปภาพโดย : Shutter Stock

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *