Fri. Mar 29th, 2024
รอพิสูจน์! ท่องเที่ยวไทย โตแบบรถไฟหัวจรวด สวนทางโครงสร้างพื้นฐานโตแบบคืบคลาน

รอพิสูจน์! ท่องเที่ยวไทย โตแบบรถไฟหัวจรวด สวนทางโครงสร้างพื้นฐานโตแบบคืบคลาน

2560 นับเป็นปีทองของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยอย่างเต็ม รูปแบบ หลังจากสะดุดไปบ้างช่วงปลายปีที่ผ่านมา จากมาตรการ ปราบปรามทัวร์ผิดกฎหมายของรัฐบาล ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหายไปค่อนข้างมาก ดังนั้น ในปีนี้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ตลอดจนสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ต่างเห็นคล้อยในทิศทางเดียวกันว่า รายได้จากภาคการท่องเที่ยวปีนี้จะทะยานเพิ่มขึ้น

โดยกระทรวงการท่องเที่ยวฯ คาดรายได้ท่องเที่ยวรวมที่ 2.71 ล้านล้านบาท เติบโต 8.17% แบ่งเป็นรายได้ต่างชาติ 1.78 ล้านล้านบาท ในประเทศ 9.34 แสนล้านบาท ททท. คาดการณ์รายได้จากการท่องเที่ยวเติบโตไม่ต่ำกว่า 10% หรือมีรายได้รวมอยู่ที่ 2.81 ล้านล้านบาท มาจากตลาดต่างประเทศ 1.86 ล้านล้านบาท และตลาดในประเทศ 9.5 แสนล้านบาท เช่นเดียวกับ สทท. ที่คาดการณ์รายได้เข้าประเทศปีนี้ไว้ในช่วง 1.82-1.85 ล้านล้านบาท

แม้รัฐบาล และภาคเอกชนจะหันมาโฟกัสที่ตัวรายได้จากภาคการท่องเที่ยวมากกว่า แต่จริงๆ แล้ว การที่รายได้จะเพิ่มขึ้น ย่อมหมายถึงจำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะ นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่ ททท. คาดการณ์ว่าจะมีมากถึง 35,250,000 คน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.65 ล้านคน ขณะที่ สทท. คาดการณ์ว่าปีนี้ 34.4 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.78% ถือเป็นจำนวน

ตัวเลขที่ใกล้เคียงกันแต่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เพิ่มสูงขึ้น ยังไม่รวมนักท่องเที่ยวคนไทยด้วยกันเองเหล่านี้ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลถึงปัญหาที่จะตามมา โดยเฉพาะระบบ โครงสร้างพื้นฐานของเมืองไทยที่ยังไม่พร้อมเหมือนในหลายประเทศที่พัฒนา หรือเมืองท่องเที่ยวอันดับหนึ่งของโลกอย่างฝรั่งเศสที่แต่ละปีมีต่างชาติเข้าไปเที่ยวราว 80-90 ล้านคน!

เที่ยวไทย

ท่องเที่ยวไทยโตสวนทางการพัฒนาโครงสร้าง พฐ.

จากคำสัมภาษณ์ของ คุณเกียรติพงศ์ อริยปรัชญา นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส ของธนาคารโลก ประจำประเทศไทย ผ่านสำนักข่าวรอยเตอร์ ระบุว่า ขณะนี้เกิดสภาพคอขวดขึ้นตามเมืองท่องเที่ยวสำคัญของเมืองไทย เช่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ และภูเก็ต สวนทางกับโครงสร้างพื้นฐานไม่ได้ขยายตัวตาม การเติบโตของธุรกิจท่องเที่ยว และจำนวนนักท่องเที่ยวในเมืองเหล่านั้น โดยเฉพาะความแออัดของสนามบินหลายแห่ง และ สาธารณูปโภคอื่นๆ ซึ่งไม่เพียงเป็นปัญหาต่อการท่องเที่ยวแต่กระทบต่อการเติบโตของเศรษฐกิจโดยรวมด้วย ดังนั้น จำเป็นต้องเพิ่มสิ่งเหล่านี้ในแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ และเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อให้สอดคล้องกับแนวคิดการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน

ในประเด็นดังกล่าว สอดคล้องกับผู้นำอุตสาหกรรมท่องเที่ยว อย่างคุณอิทธิฤทธิ์ กิ่งเล็ก ประธาน สทท. ที่ยังคงเน้นย้ำ และฝากความคิดนี้ไปยังรัฐบาลเสมอ โดยมองว่าแม้สถานการณ์ท่องเที่ยวของตลาดต่างชาติในภาพรวมจะดีขึ้นตามลำดับ แต่จากการสำรวจความคิดเห็นของผู้ประกอบการด้วยกันเอง ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั้งคนไทยและต่างชาติ มองเรื่องคุณภาพการให้บริการคมนาคมภายในประเทศ โดยเฉพาะการพัฒนาฐานข้อมูลการเดินทาง ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนนรถไฟ การขนส่งต่างๆ การจัดระเบียบรถบริการสาธารณะ ยังมีอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวอีกมาก

“เรื่องพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานก็สำคัญ ที่จะทำให้การเดินทางสู่แหล่งท่องเที่ยวชุมชนได้ง่ายขึ้น รวมถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวผู้พิการ เพื่อเข้าถึงอย่างเท่าเทียม อีกเรื่องที่สำคัญ คือเมืองไทยก้าวเข้าสู่ Thailand 4.0 แต่ยังมี ผู้ประกอบการท่องเที่ยวอีกมาก ยังไม่มีช่องทางเพิ่มความรู้พัฒนาการทำตลาดของตัวเอง สทท. เห็นว่าสิ่งเหล่านี้ ภาคธุรกิจ ท่องเที่ยวต้องเข้ามาช่วยกันพัฒนาเรื่องการเขียนโปรแกรมซอฟต์แวร์ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ก่อนจะนำมาใช้ประโยชน์ในช่องทางการตลาดในอนาคต”

ททท. ยัน ใช้ทุกหนทางเพิ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพ

ไม่ต่างกับคุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. ที่ระบุว่า สถานการณ์แนวโน้มที่ยอดนักท่องเที่ยวจะเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่ง ททท. ยินดีจะสรรหาทุกวิถีทาง เพื่อดึงรายได้เข้าประเทศพร้อมๆ กับจำนวนนักท่องเที่ยวคุณภาพ แต่สิ่งเหล่านี้องค์ประกอบภายในประเทศก็เป็นสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยด้วย แนวทางสำคัญที่ ททท. อยากเห็น

คือการที่รัฐบาลลงทุนโครงการที่คิดว่าจะสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน อาทิ การพัฒนาระบบขนส่งเพื่อเชื่อมเมืองท่องเที่ยวจากเมืองหลักไปเมืองรอง หรือเข้าไปช่วยสนับสนุนผู้ประกอบการ รายย่อย หรือช่วยหน่วยงานท้องถิ่นเรื่องการวางแผนการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวท้องถิ่น ที่คิดว่าอนาคตจะสามารถต่อยอดเป็นอีกแหล่งท่องเที่ยวสำคัญได้ เหล่านี้ก็เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต

“ททท. ได้ดำเนินการจัดทำแผนการท่องเที่ยวยุค 4.0 ซึ่งเป็นการพัฒนาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวบนฐานนวัตกรรม ที่ต้องทำการตลาดสมัยใหม่ เช่น ผ่านทางแอปพลิเคชันของโทรศัพท์มือถือ มาช่วยการบริหารจัดการนักท่องเที่ยวต่างชาติที่อาจจะเข้ามาท่องเที่ยวในไทยสูงถึง 40 ล้านคนในอนาคตถือว่าเป็นจำนวนที่มากกว่าครึ่งหนึ่ง เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรไทย

ท่องเที่ยวไทย

ทั้งประเทศที่มีประมาณ 65 ล้านคน นอกจากนี้ ต้องมีการบริหารจัดการในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่จะรองรับ เช่น สนามบิน การดูแลรักษาความปลอดภัย การสร้างความสมดุลกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องนำมาพิจารณาทั้งหมดว่าจะบริหารจัดการได้อย่างไร ซึ่งการวางแผนการท่องเที่ยวในยุค 4.0 ได้เริ่มให้เกิดการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่แผนปฏิบัติการท่องเที่ยวในปี 2560 จะช่วยสนับสนุนการท่องเที่ยวได้อีกมาก”

ในความสำเร็จย่อมต้องมีอุปสรรคเป็นของคู่กัน แต่ความสำเร็จในภาคอุตสาหกรรมท่องเที่ยว หากเปรียบให้เห็นภาพคือมีการเติบโตรวดเร็วราวกับความเร็วของรถไฟหัวจรวด ขณะที่การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวยังเร่งระดับความเร็วได้แบบรถไฟดีเซลราง แนวทางการพัฒนาที่ไม่ได้เดินหน้าคู่ขนานไปในระบบรางเดียวกัน จะเป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวในอนาคต ของยุคที่ภาคการท่องเที่ยวเบ่งบานสุดขีดหรือไม่ รัฐบาลเตรียมรับมืออย่างไร เวลาจะเป็นกุญแจนำไปสู่คำตอบรอพิสูจน์! ท่องเที่ยวไทยโตแบบรถไฟหัวจรวด สวนทางโครงสร้างพื้นฐานคืบแบบกระปิดกระปอย

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *