Wed. Apr 24th, 2024
ท่องเที่ยวไทย

ท่องเที่ยวไทยยุค ‘New Normal’ เมื่อต้องปรับตัวรับ ‘ความปกติที่ไม่ธรรมดา’

อย่าคิดว่าจะจบลงง่าย ๆ สำหรับ ‘สงครามการค้าโลก’ ระหว่างสหรัฐอเมริกากับจีน สองมหาอำนาจทางเศรษฐกิจยักษ์ใหญ่ของโลก เพราะนี่คือภาวะ ‘นิว นอร์มอล’ (New Normal) หรือ ‘เรื่องใหม่’ ที่จะเกิดขึ้นเป็น ‘ปกติ’ นับจากนี้

ศึกการค้าโลกจะฉายภาพซ้ำ วนลูปเดิม ๆ ตั้งแต่การตั้งการ์ดสู้ ต่อรอง ยอม ถอย แยกย้ายเดินเข้ามุม ดูเหมือนจะสงบ ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอีก แต่แล้วก็จะเหมือนหนังตบจูบม้วนเดิม เริ่มสู้กันใหม่แบบนี้ไปเรื่อย ๆ ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยเดินทางสู่ภาวะหดตัว สอดรับกับเศรษฐกิจโลกอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง

คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประเมินว่า จากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกและภายในประเทศไทยชะลอการเติบโต รวมถึงภาวะเงินบาทแข็งค่า ส่งผลกระทบโดยตรงกับการเติบโตของรายได้ท่องเที่ยวจากตลาดต่างประเทศ ทั้งในมุมของควักเงินออกมาจับจ่ายและวันพำนักที่น้อยลง เมื่อนักท่องเที่ยวระมัดระวังเรื่องต้นทุนการเดินทางมากขึ้น ส่งผลให้มองหาแพ็คเกจทัวร์และที่พักราคาถูก เพื่อสนองดีมานด์การเดินทางที่ยังมีอยู่

นอกจากนี้ ไทยยังต้องเผชิญการแข่งขันรุนแรงจากประเทศคู่แข่งมากมาย โดยเฉพาะจุดหมายปลายทางใหม่ ๆ ที่มีความสด และพร้อมอัดงบประมาณมหาศาลในการโฆษณาประชาสัมพันธ์เพื่อดึงนักท่องเที่ยวไปเยือน “หนุนให้ภาคท่องเที่ยวไทยก้าวสู่ยุค New Normal เห็นได้จากแนวโน้มของตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติเยือนไทยมีอัตราการเติบโตที่ระดับ 5 – 6 % ต่อปี ไม่หวือหวาในระดับมากกว่า 10% เหมือนในอดีตอีกแล้ว”

ททท.จึงต้องปรับกลยุทธ์ ด้วยการ ‘เพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยว’ ทั้งการเพิ่มความถี่การเดินทางของตลาดความหวัง โดยเฉพาะ ‘เอเชีย’ ทั้งนักท่องเที่ยวจีน อินเดีย และอาเซียน เพราะยังขยายตัวได้ดี ขณะที่บางตลาดก็เห็นการเติบโตดีเช่นกัน เช่น นักท่องเที่ยวจากภูมิภาคอเมริกาทั้งตอนเหนือและใต้ ซึ่งมีแนวโน้มขยายตัวดี 5 – 10% นอกจากนี้ยังต้องกระตุ้นการเดินทางของตลาดในประเทศ พร้อมดำเนินกลยุทธ์ ‘รักษายอดนักท่องเที่ยว’ ในตลาดที่เผชิญความท้าทายรอบด้าน ทั้งจากภาวะเศรษฐกิจและพฤติกรรมการท่องเที่ยวที่เปลี่ยนไป อาทิ กลุ่มสแกนดิเนเวีย ออสเตรเลีย บางประเทศในกลุ่มตะวันออกกลางและยุโรปอย่างอังกฤษซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดใหญ่ของยุโรป ก็ยังเป็นตลาดที่ต้องจับตาผลกระทบจากการแยกตัวออกจากสหภาพยุโรป (เบร็กซิต) อย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการทำตลาดลงลึกระดับเซ็กเมนต์ที่มีความสนใจหลากหลาย และมีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง เพื่อผลักดันการเติบโตของรายได้ให้ถึงเป้าหมาย

ท่องเที่ยวไทย

สำหรับเป้าหมายรายได้ท่องเที่ยวไทยปี 2562 รวมทั้งตลาดในและต่างประเทศของรัฐบาล ล่าสุดกำหนดไว้ที่ตัวเลขประมาณ 3.2 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากตลาดต่างประเทศ 2.04 ล้านล้านบาท จากคาดการณ์จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ 39.8 ล้านคน ด้านรายได้จากตลาดในประเทศอยู่ที่ 1.17 ล้านล้านบาท จากคาดการณ์นักท่องเที่ยวไทย 180 ล้านคน-ครั้ง ขณะที่ปี 2563 รัฐบาลต้องการเห็นจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยเพิ่มขึ้นเป็น 41.8 ล้านคน สร้างรายได้ตลาดต่างประเทศเพิ่มเป็น 2.22 ล้านล้านบาท

ในสถานการณ์การแข่งขันที่ยังทวีความรุนแรงต่อเนื่อง เพราะหลาย ๆ ประเทศหันมาปักธงทำการตลาดเพื่อดึงนักท่องเที่ยวไปเยือนอย่างหนักหน่วง ผ่านการจัดกิจกรรมโปรโมทและอีเวนต์ขนาดใหญ่ อย่างประเทศบ้านใกล้เรือนเคียง ‘มาเลเซีย’ ได้ประกาศให้ปี 2020 เป็นปีแห่งการท่องเที่ยว หรือ Visit Malaysia Year

ขณะที่ ‘เวียดนาม’ นอกเหนือจากการโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ๆ แล้ว ยังเตรียมจัดอีเวนต์ด้านกีฬา อย่างการแข่งขันฟอร์มูล่าวัน (F1)

ฟากคู่แข่งภายในภูมิภาคเอเชียอย่าง ‘จีน’ แม้จะส่งออกนักท่องเที่ยวมาเยือนไทยมากเป็นอันดับ 1 ด้วยขนาด 10.5 ล้านคนเมื่อปี 2561 และคาดการณ์ว่าจะมาเที่ยวไทยในปี 2562 ไม่ต่ำกว่า 11 ล้านคน ก็หันมาส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น

ขณะที่ ‘ญี่ปุ่น’ ก็มีเมกะอีเวนต์ที่ทั่วโลกไฮไลต์ตั้งตาชม นั่นคือ ‘โอลิมปิก 2020’ ซึ่งทางการญี่ปุ่นวางเป้าหมายมีนักท่องเที่ยวต่างชาติไปเยือนตลอดปี 40 ล้านคน และสานต่อการเติบโตต่อเนื่องให้ทะลุ 60 ล้านคนในปี 2030

ด้าน ‘ยุโรป’ เองก็มีการจัดบิ๊กอีเวนต์อย่างการแข่งขันฟุตบอลยูโร น่าจับตามองอย่างยิ่งเพราะนี่เป็นครั้งแรกที่จะมีเจ้าภาพรวมมากที่สุด 12 ประเทศ

เมื่อหลาย ๆ ประเทศต่างทุ่มงบประมาณและแรงกายแรงใจขนาดนี้ ภาคท่องเที่ยวไทยจำเป็นต้องปรับกลยุทธ์ ด้วยการเร่งดันยอดนักท่องเที่ยวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง ผ่านการรักษายอดให้ยังอยู่ในภาวะเติบโตทุกตลาด โดยตลาดดาวรุ่งน่าจับตา ไม่ว่าจะเป็นประเทศในกลุ่มยุโรปกลาง อาทิ ออสเตรีย และโปแลนด์ เพื่อชดเชยยอดภาพรวมยุโรปเที่ยวไทยที่ยังติดลบเล็กน้อยระดับ 1 – 2% ในช่วง 9 เดือนแรก (ม.ค. – ก.ย.) ของปี 2562 นอกจากนี้ยังมีตลาดน่าสนใจอย่างฟิลิปปินส์ ที่เห็นกระแสการเดินทางของนักท่องเที่ยวกลุ่มเลเชอร์ขยายตัวดี 20%

ทั้งหมดนี้ คือ กลยุทธ์ของภาคท่องเที่ยวไทย ท้าชนกับแรงกดดันจากเศรษฐกิจโลกและในประเทศ และพร้อมท้าชนกับคู่แข่งประเทศต่างๆ อย่างสมศักดิ์ศรี

ที่มา : นิตยสาร Thai Hotel & Travel Magazine ฉบับเดือน ธันวาคม 2019 – มกราคม 2020

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *