Thu. Apr 25th, 2024
เราเที่ยวด้วยกัน

ทุจริต ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ปลาเน่าบางตัว…ทำตายยกข้อง!

ประเด็นร้อนแรงสุด ๆ ของภาคโรงแรมและท่องเที่ยวไทยในช่วงกลางเดือนธันวาคม 2563 เมื่อทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง และธนาคารกรุงไทย ตรวจสอบพบพฤติกรรมหรือธุรกรรมต้องสงสัยที่เข้าข่ายทุจริตในโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ ของรัฐบาล! 

แน่นอนว่าโครงการ ‘เราเที่ยวด้วยกัน’ เป็นที่รู้จักของผู้ประกอบการโรงแรมอย่างดี เนื่องจากเป็นโครงการที่รัฐช่วยจ่ายเงินสนับสนุนค่าห้องพัก 40% สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน ให้ผู้รับสิทธิค่าโรงแรมที่พัก 5 ล้านคืน โดยกำหนดโควตาคนละ 10 คืน ช่วยเยียวยาด้านรายได้แก่ผู้ประกอบการที่หลายโรงแรมรายได้เป็นศูนย์ในช่วงล็อคดาวน์

หลังจากเริ่มต้นโครงการฯ ตั้งแต่วันที่ 18 กรกฎาคม 2563 เดิมจะสิ้นสุดวันที่ 31 มกราคม 2564 แต่เพื่อกระตุ้นตลาดท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่องในสถานการณ์ที่ยังไม่สามารถเปิดประเทศ แง้มประตูต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติได้เต็มบาน เนื่องจากยังพบปัญหาการระบาดซ้ำในหลาย ๆ ประเทศ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงมีมติให้ขยายไปถึงวันที่ 30 เมษายน 2564 ครอบคลุมถึงเทศกาลสงกรานต์ซึ่งเป็นช่วงที่คนไทยนิยมออกท่องเที่ยวจำนวนมาก พร้อมเพิ่มสิทธิห้องพักอีก 1 ล้านคืน รวมเป็น 6 ล้านคืน

เมื่อพบพฤติกรรมต้องสงสัยเข้าข่ายทุจริตโครงการฯ และทาง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งการในที่ประชุม ครม. เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ถึงโครงการเราเที่ยวด้วยกันว่า ต้องตรวจสอบให้เจอว่าคนกลุ่มนี้คือคนกลุ่มไหน และเป็นโรงแรมที่ไหน ต้องดำเนินการจัดการขั้นเด็ดขาดด้วยการฟ้องดำเนินคดีตามกฎหมายให้ถึงที่สุด เพื่อเป็นตัวอย่างและแบบอย่าง เวลามีโครงการอะไรดี ๆ ของรัฐบาลออกมา ก็ไม่ควรไปร่วมมือทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงกำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการ

คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงยื่นหนังสือต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติเมื่อวันที่ 16 ธันวาคม 2563 เพื่อขอให้ตรวจสอบข้อมูลผู้เข้าข่ายกระทำความผิดในโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เนื่องจากพบความผิดปกติของธุรกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้น พร้อมกับแนบรายชื่อผู้ประกอบการที่เข้าข่ายกระทำผิดเงื่อนไขของโครงการฯ หลายรายกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อใช้ประกอบการสืบสวนสอบสวนและแสวงหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมในการพิจารณาดำเนินการตามกฎหมาย

โดยทาง ททท. มีรายชื่อโรงแรมต้องสงสัยรวม 312 แห่ง มีจำนวนผู้ใช้สิทธิ์ 108,962 สิทธิ์ และร้านค้ากับร้านอาหาร 202 แห่ง มีผู้ใช้สิทธิ 49,713 สิทธิ์ แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อ บอกได้เพียงว่าส่วนใหญ่เป็นโรงแรมขนาดเล็กในต่างจังหวัด แต่ก็มีโรงแรมขนาดใหญ่บางส่วนด้วยเช่นกัน
แม้จำนวนที่ตรวจสอบพบจะเป็นหลักร้อยเมื่อเทียบกับจำนวนโรงแรมที่เข้าร่วมโครงการกว่า 8,000 แห่ง และร้านอาหาร 65,000 แห่ง และยังไม่ได้ก่อให้เกิดความเสียหายแก่ภาพรวมของโครงการฯ แต่ก็ไม่อยากให้คนจำนวนน้อยทำให้คนส่วนใหญ่เสียหาย หรือเข้าทำนอง… ‘ปลาเน่าบางตัว…ทำตายยกข้อง’ จึงขอให้ทุกฝ่ายสบายใจว่า ตอนนี้ทุกหน่วยงานรับทราบและกำลังเร่งตรวจสอบไม่ให้มีผู้เข้ามาฉกฉวยโอกาสจากโครงการนี้

สำหรับพฤติกรรมหรือธุรกรรมต้องสงสัยเข้าข่ายกระทำผิดเงื่อนไขโครงการเราเที่ยวด้วยกัน มี 6 รูปแบบ ซึ่งมีผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องเป็นโรงแรม ร้านค้า และประชาชนที่ร่วมขบวนการ ได้แก่ 

1. เข้าพักโรงแรมราคาถูก (โฮสเทล) เช็คอินเข้าโรงแรมแต่ไม่เข้าพัก ได้ประโยชน์จากการใช้คูปอง โดยไปร้านค้าที่มีถุงเงินเพื่อสแกนใช้ โดยการจองมีทั้งผ่านและไม่ผ่านแพลตฟอร์มท่องเที่ยวออนไลน์ (Online Travel Agent : OTA) 

2. โรงแรมขึ้นราคาห้องพัก รู้เห็นเป็นใจกับร้านอาหารที่รับคูปอง (โรงแรมรับซื้อสิทธิ์) ไม่เกิดการเดินทางจริง โรงแรมมีถุงเงิน (ผู้ขายสิทธิ์เลขบัตรประชาชน 4 ตัวท้าย กับเบอร์การโทรในการให้ OTP) รับเฉพาะส่วนต่าง 40% (จองตรงกับโรงแรม) 

3. โรงแรมมีตัวตน แต่ปิดทำการ แต่ยังมีการขายห้องพัก โดยมีทั้งผ่านและไม่ผ่าน OTA 

4. ใช้ส่วนต่างคูปองเติมเงิน เพื่อให้ใช้คูปองที่ร้านนั้น 

5. เข้าพักจริง เป็นกรุ๊ปเหมา ได้เงินทอน โดยทางโรงแรมรู้เห็น และมีการจองตรงกับโรงแรม 

6. ขายจำนวนห้องพักเกินจริง (Overcapacity) เช่น โรงแรมมีห้องพักจำนวน 100 ห้อง แต่กลับเปิดขาย 300 ห้อง รวมทั้งมีการอัพเกรดให้ไปพักโรงแรมอื่นด้วย

“ส่วนมากพฤติกรรมทุกรูปแบบเกิดขึ้นในช่วงที่รัฐบาลผ่อนปรนเงื่อนไขการเข้าร่วมโครงการฯ เช่น การขยายสิทธิ์ห้องพัก ขยายเวลาสิ้นสุดโครงการไปถึงสิ้นเดือนมกราคม 2564 และเปิดให้ผู้ได้รับสิทธิ์สามารถเข้าพักในภูมิลำเนาตัวเองได้ ทำให้เกิดการทำธุรกรรมที่น่าสงสัย เหมือนทำเป็นขบวนการ เน้นเล่นเกมสั้น เช่น จองล่วงหน้า 3 วันสุดท้าย ไม่จองล่วงหน้ายาว ๆ”

ททท. ถึงได้ยื่นหนังสือต่อสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เพราะโครงการเราเที่ยวด้วยกันเป็นโครงการของรัฐ และเป็นการใช้เงินของพี่น้องประชาชน จึงอยากให้ช่วยกันสอดส่องดูแล ทำให้ถูกต้อง มีบทลงโทษทางสังคม ควบคู่กับในส่วนของการดำเนินคดีซึ่งจะดำเนินให้ถึงที่สุด เพื่อทำให้โครงการเราเที่ยวด้วยกันเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวต่อไป

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *