Fri. Apr 19th, 2024
ททท. งัดหมัดเด็ดเปิดตัวเว็บไซต์ ‘ทริป แพลนเนอร์’ จัดแพคเก็จท่องเที่ยวตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์รับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคไอทีเป็นใหญ่

ททท. งัดหมัดเด็ดเปิดตัวเว็บไซต์ ‘ทริป แพลนเนอร์’ จัดแพคเก็จท่องเที่ยวตอบสนองทุกไลฟ์สไตล์รับพฤติกรรมนักท่องเที่ยวยุคไอทีเป็นใหญ่

ปัจจุบันการท่องเที่ยวทั่วโลกรวมถึงเมืองไทย มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากกระแสความนิยมของผู้คน ที่ให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวเสมือนเป็นปัจจัยหนึ่งในชีวิตไปแล้ว และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะเทคโนโลยีใหม่ๆ ทำให้การท่องเที่ยวเป็นเรื่องสะดวกสบาย เนื่องจากมีช่องทางสื่อสารออนไลน์มากมายให้นักท่องเที่ยวมีโอกาสหาข้อมูลแหล่งท่องเที่ยวที่ตนสนใจ เสมือนเป็นผู้ช่วยให้การแพ็กกระเป๋าออกไปสู่โลกกว้างเป็นเรื่องง่ายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน ที่ถูกนำมาใช้เป็นเครื่องมือการเดินทางข้ามประเทศ แทนหนังสือเดินทางรูปเล่ม การถ่ายภาพทางอากาศผ่านโดรนช่วยกระตุ้นต่อมความอยากเดินทางของผู้ที่ได้รับชม ขณะเดียวกันเทคโนโลยีก็เปิดโอกาสให้นักเดินทางสามารถแบ่งปันเรื่องราวความประทับใจและภาพถ่ายสวยๆ งามๆ กระตุ้นให้คนอยากท่องเที่ยวมากขึ้น

การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. หน่วยงานทำการตลาดท่องเที่ยวนำเสนอสินค้าท่องเที่ยวในทุกรูปแบบ ทุกประเภทสู่สายตาชาวโลก ได้หันมาให้ความสำคัญกับการนำสื่อโซเชียลมีเดียมาใช้เป็นเครื่องมือโปรโมทการท่องเที่ยวของไทย ด้วยททท. ถือว่าข้อมูลข่าวสารด้านไอทีถือเป็นสิ่งจำเป็นในปัจจุบัน เนื่องจากประชาชนหันมาสนใจการสื่อสารผ่านระบบโซเชียลเน็ตเวิร์คมากขึ้น ททท. จำเป็นต้องปรับตัวเข้าหา เพื่อเสริมกลยุทธ์ด้านการตลาด และการประชาสัมพันธ์

เว็บไซต์ กับการท่องเที่ยว

คุณศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร ผู้อำนวยการสำนักเทคโนโลยีสารสนเทศ ททท. ระบุว่า ททท. เน้นการนำเสนอข้อมูลผ่านระบบดิจิทัล 4 ส่วน คือ การวางแผนยุทธศาสตร์ ตัวเทคโนโลยี คอนเทนต์ และการตลาด-ประชาสัมพันธ์ โดยที่ผ่านมา ททท. ได้ปรับโฉมเว็บไซต์ Tourism Thailand แบบยกเครื่องใหม่ทั้งหมด นำระบบช่วยวางแผนการเดินทางเฉพาะบุคคล (Trip Planner) มาให้บริการ พร้อมเปิดช่องทางให้พาร์ทเนอร์ทางธุรกิจ มานำเสนอสินค้าและบริการด้านการท่องเที่ยวผ่านเว็บไซต์ของททท. ด้วย

“ช่วงเดือนกันยายนที่ผ่านมา ททท. พร้อมเปิดตัวเว็บไซต์ ทริปแพลนเนอร์ หนึ่งในโครงการ ดิจิทัล ทัวริสซึ่ม ตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ได้มอบหมาย เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวสามารถวางแผนการเดินทาง และระยะเวลาพำนักได้ก่อนเดินทางตามความชอบ ตามไลฟสไตล์ของแต่ละคน เช่น ชอบการท่องเที่ยวแนวผจญภัย โรแมนติก ก็สามารถระบุ และทางเว็บไซต์ก็จะให้ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว และช่วงเวลาที่เหมาะสม เช่น อาจจะนำเสนออ่าวต้นไทร-หาดไร่เลย์ จังหวัดกระบี่ ซึ่งปกติจะมีงาน ปีนผาหารัก

พร้อมแนะนำสินค้าทางการท่องเที่ยวของดีแต่ละจังหวัด ระหว่างทาง เช่น ร้านอาหาร โรงแรมที่พัก จนถึงจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวต้องการไป เชื่อว่าแนวทางนี้ จะช่วยยืดระยะวันพักให้นักท่องเที่ยวไม่น้อยกว่า 1 วัน รวมถึงช่วยเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวต่อคนได้ ช่วยกระจายรายได้ทางการท่องเที่ยวให้เข้าถึงผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ได้ด้วย

นอกจากนี้ ยังเตรียมเปิดตัวแอปพลิเคชัน Thailand VR360 (Virtual Reality 360) นำเสนอแหล่งท่องเที่ยวไทยเสมือนจริงแบบ 360 องศา โดยเป็นภาพ VR360 และ VDO VR360 บรรจุลงในแอปพลิเคชัน ‘Amazing Thailand’ (ภาษาอังกฤษ) และ ‘Tourism Thailand’ (ภาษาไทย ) บน Android และ iOS รวมถึงเปิดเกม TAT Digital Playground เริ่ม Soft Launch ด้วยเกมลอยกระทง ช่วงเดือนตุลาคมนี้ จากนั้นจะนำประเพณีสำคัญๆ ของไทย มาปรับทำเป็นเกมบนมือถือ โดยนักท่องเที่ยวสามารถทดลองเล่นเกมเสมือนกับเข้าร่วมงานนี้จริงๆ อย่างงานลอยกระทงก็จะได้เล่นตั้งแต่ขั้นตอนการผลิตกระทง ไปจนถึงลอยกระทง อธิษฐาน ทำให้นักท่องเที่ยวได้ซึมซับวัฒนธรรมประเพณีไทย เวลามาเที่ยวจริง ก็จะได้รู้สึกว่าเคยได้สัมผัสประเพณีดีงามนี้มาก่อน”

คุณศิริปกรณ์ ระบุว่า โครงการต่างๆ เหล่านี้ สำนักงาน ททท. ทั่วโลก รวมถึงพันธมิตรภาคเอกชน จะช่วยประชาสัมพันธ์ให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และยังมีอีกหลายโครงการที่ต้องพัฒนาต่อไป มีกำหนดเปิดตัวอย่างเป็นทางการในปีงบประมาณ 2560 นี้ สำหรับงบประมาณที่ฝ่ายไอที ททท.ได้รับจัดสรรในแต่ละปีนั้น แม้จะมีโครงการต่างๆ เพิ่มขึ้น ก็ใช้
วิธีจัดสรรการใช้งบประมาณ โดยไม่ได้มีงบประมาณมาเพิ่มแต่อย่างใด สาเหตุหนึ่งอาจเป็นเพราะต้นทุนทางสื่อโซเซียลฯ ปัจจุบันมีราคาถูกลง ตามปริมาณการใช้ที่มีจำนวนมาก”

เว็บไซต์ข้อมูลวางแผนการท่องเที่ยว

ด้านคุณพงษ์ภาณุ เศวตรุนทร์ ปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ระบุว่า ปีงบประมาณ 2559-2560 มีแผนใช้งบฯ รวมกว่า 60 ล้านบาท ในการพัฒนาตลาดและทำตลาดเชิงนโยบายด้านไอทีต่างๆ เช่น ร่วมกับภาคเอกชนจัดทำเว็บไซต์บุ๊กกิ้งออนไลน์ต่างๆ และจัดทำฐานข้อมูลสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อเตรียมการรองรับนักท่องเที่ยวที่ยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

จะเห็นได้ว่า การตลาดที่เปลี่ยนไป องค์กรด้านการท่องเที่ยวก็ต้องเร่งปรับตัวตาม เพื่อให้ทันกับพฤติกรรมนักท่องเที่ยว และกลยุทธ์การแข่งขันจากประเทศอื่นๆ ที่เป็นคู่แข่งสำคัญของไทย การหันมาให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านไอที จึงถือเป็นช่องทางหนึ่งที่ช่วยผลักดันการท่องเที่ยวไทยให้เติบโตได้ ก่อนจะถูกแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดนักท่องเที่ยวไป โดยเฉพาะกลุ่ม นักท่องเที่ยวคุณภาพ มีศักยภาพด้านค่าใช้จ่าย ให้ยังคงเข้ามาจับจ่ายเพื่อกระจายรายได้สู่คนไทยต่อไป

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *