Thu. Apr 25th, 2024
น่าน – เกาะล้าน นำร่องจำกัดนักท่องเที่ยว จุดกระแสแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

น่าน – เกาะล้าน นำร่องจำกัดนักท่องเที่ยว จุดกระแสแหล่งท่องเที่ยวยั่งยืนไม่กระทบสิ่งแวดล้อม

กระแสการท่องเที่ยวปัจจุบันที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลายประเทศต่างช่วงชิงนักท่องเที่ยว ผ่านกลยุทธ์ทางการตลาดหลากหลายรูปแบบ รวมถึงประเทศไทยที่ถือว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเยือนในแต่ละปีเป็นจำวนมาก สูงเป็นลำดับต้นๆ ของเอเชีย โดยเฉพาะแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมทั้งกรุงเทพ พัทยา ภูเก็ต

แต่บางครั้งการที่แหล่งท่องเที่ยวเติบโตเร็วเกินไป ขณะที่โครงสร้างพื้นฐานต่างๆ รวมถึงวิถีชุมชน วัฒนธรรม และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ไม่สามารถปรับตัวได้ทัน อาจเป็นชนวนที่ทำให้แหล่งท่องเที่ยวนั้นเสื่อมโทรม ไม่ยั่งยืน เหมือนที่เคยเกิดขึ้นกับอำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งในอดีตนักท่องเที่ยวทั้งไทยและเทศแห่ไปท่องเที่ยวเป็นจำนวนมาก แม้แต่ปั๊มน้ำมันยังต้องรองรับจำนวนรถที่ต่อคิวยาวนับเป็นกิโลเมตรเพื่อเติมน้ำมัน

สุดท้ายแล้ว ปาย ก็อาจเรียกได้ว่า เคยเป็นแหล่งท่องเที่ยวป๊อบปูล่า แต่ปัจจุบันกลับเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ค่อนข้างเงียบเหงา หลายธุรกิจต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด วิถีชุมชนที่เคยเงียบสงบ ก็ยากที่จะดึงกลับ หลังถูกวัฒนธรรมเมือง เข้าไปกลืนกินมากเหลือเกิน ทำให้หน่วยงานท่องเที่ยว ต่างหันมาทบทวนเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยว ว่าควรให้ความสำคัญมากเกินไป แต่ควรหันไปโฟกัสที่นักท่องเที่ยวที่มีศักยภาพ สามารถใช้จ่ายได้สูงมากกว่า

ทำให้เรื่องนี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการดูแลแหล่งท่องเที่ยว เพื่อการท่องเที่ยวไทยที่ยั่งยืนอย่าง องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท. โดยคุณชุมพล มุสิกานนท์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน ระบุว่า จากการที่ อพท. เริ่มศึกษาและดำเนินการพัฒนาพื้นที่ชุมชนไปสู่การท่องเที่ยวยั่งยืนภายใต้การสร้างแบรนด์ ‘น่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต’ โดยชูจุดเด่นด้านวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ เพื่อสร้างรายได้การท่องเที่ยวในพื้นที่มาดูแลเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 10% ภายในปีนี้นั้น

อพท. เตรียมแผนส่งเสริมให้ชุมชนพัฒนาสินค้าท่องเที่ยวเชิงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ยกระดับผลิตภัณฑ์ให้มีมาตรฐานเป็นสินค้าของฝากของที่ระลึกได้ ที่ผ่านมาพัฒนาสินค้าท้องถิ่นแล้ว 3 รายการ เช่น ตุงค่าคิง และภายในปีนี้จะส่งเสริมผลิตภัณฑ์อาหาร เช่น เมนูไก่มะแขว่น และสบู่เกลือ ทั้งหมดเป็นสินค้าที่ได้จากทุนวัฒนธรรมท้องถิ่น ทำใช้กันในบ้านเรือน แล้วจึงพัฒนามาเพื่อจำหน่ายในพื้นที่ จากนั้นจะขยายไปยังพื้นที่ภูมิภาคอื่น

เที่ยวเมืองน่าน

“ขณะนี้ยอมรับว่า แนวโน้มตลาดจีนเริ่มมาแรง แม้จะมีการต่อต้านในบางจังหวัดทางภาคเหนือ แต่ที่ผ่านมากลับพบว่า ทัวร์จีนที่เข้าไปเที่ยวน่านยังเป็นกลุ่มมีคุณภาพ และรู้จักปรับพฤติกรรมให้กลมกลืนกับท้องถิ่น เช่น รู้จักการเข้าไปขี่จักรยานชมเมืองตามการส่งเสริมของจังหวัด ยังไม่ก่อให้เกิดปัญหาแต่อย่างใด แต่ อพท. เอง ได้พิจารณาถึงศักยภาพในการรองรับนักท่องเที่ยวเป็นหลัก และคิดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวที่เหมาะสมไม่ควรเกินจำนวน 3 แสนคนต่อปี โดยปีที่ผ่านมีจำนวนใกล้เคียงถึง 2.5 แสนคนไปแล้ว ดังนั้น จึงเริ่มหารือถึงมาตรการควบคุมดูแลการเติบโตในเชิงปริมาณ เช่น อาจมีการจำกัดโควต้านักท่องเที่ยว เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาความเสื่อมโทรม และมีผลต่อทรัพยากรธรรมชาติเหมือนแหล่งท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ขยายตัวอย่างรวดเร็วเกินไป แม้ตอนนี้นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวน่าน 90% ยังเป็นคนไทย ส่วนตลาดต่างประเทศแม้มีสัดส่วนเพียง 10% แต่เป็นช่วงเติบโตต่อเนื่องและน่าจับตามอง”

ไม่ต่างกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย หรือ ททท. แม้จะทำหน้าที่การตลาด ส่งเสริมให้ต่างชาติมาเที่ยวไทย แต่ไม่นิ่งนอนใจเรื่องความยั่งยืนของแหล่งท่องเที่ยวไทย โดยคุณสุลัดดา ศรุตลาวัณย์ ผู้อำนวยการ ททท. สำนักงานพัทยา ระบุว่า ททท. อยู่ระหว่างศึกษาความเหมาะสมของจำนวนนักท่องเที่ยวพื้นที่เกาะล้านร่วมกับเขตปกครองพิเศษเมืองพัทยาว่าจำนวนควรเป็นเท่าใด เพราะปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวไปเที่ยวเกาะล้าน 2 – 3 ล้านคนต่อปี หรือเฉลี่ยกว่าวันละ 4.5 – 5 พันคน ซึ่งจะหนาแน่นมากในช่วงวันหยุดยาวเฉลี่ยสูงถึงวันละ 8,000 คน ทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามมา ทั้งเรื่องขยะ น้ำเสีย จนอาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ในระยะยาว

“นักท่องเที่ยวที่ไปเที่ยวเกาะล้านมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน ที่ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวไฮไลต์ หากมาเที่ยวพัทยาจะต้องไปเที่ยว 100% เช่นเดียวกับคนไทยที่ไปเที่ยวเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน เพราะใกล้กับกรุงเทพฯ เดินทางไม่นาน ประกอบกับจำนวนห้องพักกว่า 600 – 1,000 ห้อง จากจำนวนที่พักกว่า 100 แห่ง หากไม่มีมาตรการป้องกันจะส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้ ดังนั้น หน่วยงานปกครองท้องถิ่น รวมถึง ททท. ได้ตระหนักถึงเรื่องนี้ เพราะอาจลุกลามมากกว่าที่เป็นอยู่ จึงมองว่า นอกจากสร้างความเข้าใจกับผู้ประกอบการและนักท่องเที่ยว ให้ช่วยกันรักษาความสะอาด ทั้งเรื่องน้ำเสียและขยะแล้ว ก็อาจจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว เพราะเป็นอีกช่องทางป้องกันปัญหา แต่ระดับจำนวนนักท่องเที่ยวจะอยู่ที่เท่าใดต้องรอผลการศึกษาก่อน”

สอดคล้องกับนโยบายของคุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ที่พยายามโปรโมทแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ โดยเฉพาะพื้นที่ชุมชนที่น่าจะยกระดับเป็นแหล่งท่องเที่ยวได้ เพราะนอกจากจะกระจายจำนวนนักท่องเที่ยวไม่กระจุกตัวแหล่งท่องเที่ยวหลักมากเกินไป ยังช่วยกระจายรายได้ให้ชุมชน พร้อมกับยกระดับสินค้าท้องถิ่น ปรับบรรจุภัณฑ์ให้สามารถขายตามโรงแรมชื่อดัง หรือแหล่งจำนวนสินค้าหลักทั่วประเทศ

นับเป็ยนิมิตหมายที่ดี ที่หน่วยงานรัฐได้หันมาตระหนักต่อเรื่องการจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยว แล้วหันมาสนับสนุนกิจกรรมการบริการและของที่ระลึก เพื่อกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ผ่านการชูแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ ถือเป็นการสร้างทางเลือกที่หลากหลายมากขึ้น จึงนับเป็นสัญญาณที่ดีต่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนของไทยในอนาคต

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *