Fri. Apr 19th, 2024
อย่าให้โศกนาฏกรรมทำลายการท่องเที่ยวของเรา

อย่าให้โศกนาฏกรรมทำลายการท่องเที่ยวของเรา

ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ สำหรับเหตุการณ์เรือท่องเที่ยวล่มที่จังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2561 ที่ผ่านมา หลังมีมรสุมพัดเข้าทั้งในตัวเมืองและพื้นที่ทะเลอย่างรุนแรง เกิดคลื่นสูงมากถึง 5 เมตร จนเป็นเหตุให้เรือล่ม 3 ลำ ได้แก่ เรือฟีนิกซ์ ไดร์ฟวิ่ง รอดชีวิต 54 คน มีผู้เสียชีวิต 47 ราย ขณะที่เรือเซเรเนต้า รอดชีวิต 42 คน และเจ็ตสกี รอดชีวิต 2 คน

กลายเป็นประเด็นร้อน ให้ถกกันว่ามาตรฐานการเดินทางและความปลอดภัยของภาคท่องเที่ยวไทยอยู่ตรงไหน และภาคเอกชนต้องรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร เพื่อกู้คืนความมั่นใจให้ทันช่วงหยุดยาววันชาติจีน หรือ ‘โกลเด้นวีค’ เดือนตุลาคมนี้

คุณหลี่ ชุนหลิน ที่ปรึกษาทูตและกงสุลใหญ่ สาธารณรัฐประชาชนจีน กล่าวว่า จากเหตุการณ์เรือล่มที่จังหวัดภูเก็ต จนเป็นเหตุให้มีนักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิต 47 คนและบาดเจ็บเป็นจำนวนมากนั้น ถือเป็นบทเรียนสำคัญด้านความปลอดภัย ซึ่งถือเป็นสิ่งสำคัญของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ เชื่อว่าทางการไทยสามารถจัดการเหตุการณ์ครั้งนี้ได้อย่างเรียบร้อย เพิ่มมาตรการคุ้มครองรักษาความปลอดภัยและสิทธิประโยชน์โดยชอบธรรมของนักท่องเที่ยวชาวจีน รวมถึงการเพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ซ้ำ

การท่องเที่ยว ประเทศไทย

ไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางในการท่องเที่ยวอันดับ 1 ของนักท่องเที่ยวจีนต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 ปี โดยในปี 2560 มีชาวจีนเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศ 60 ล้านคน มี 1 ใน 6 ที่เดินทางมาประเทศไทย ถือเป็นจำนวนมากที่สุด โดยนักท่องเที่ยวจีนมีมากเป็น 1 ใน 3 ของนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เดินทางมาเที่ยวไทย

“แต่เมื่อเกิดอุบัติเหตุทำให้นักท่องเที่ยวจีนเสียชีวิตในไทย รวมจำนวนผู้เสียชีวิต 98 คน จากอุบัติเหตุจมน้ำเสียชีวิต 65 คน คิดเป็น 40% ของนักท่องเที่ยวจีนที่เสียชีวิตจากการจมน้ำทั่วโลกกว่า 156 คน นอกจากนี้ในปี 2560 มีชาวจีนประสบอุบัติเหตุทางบกและทางน้ำอีก 16 คน”

เราคิดว่าการเพิ่มมาตรการการรักษาความปลอดภัย เพิ่มความเข้มงวดกำกับความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยว ลดอุบัติเหตุจมน้ำ ลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุทางบกและทางน้ำของนักท่องเที่ยวชาวจีน ไม่เพียงแต่เป็นการรักษาความปลอดภัยต่อชีวิตของนักท่องเที่ยวชาวจีนเท่านั้น หากเป็นการยกระดับคุณภาพการท่องเที่ยว และมีส่วนช่วยในการรักษาภาพลักษณ์ของประเทศไทยและรัฐบาลไทย สามารถช่วยส่งเสริมความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างไทย-จีน ให้เป็นไปในทิศทางที่ถูกต้อง

ดังนั้น ทางฝ่ายจีน จึงขอเสนอแนะ 4 แนวทางด้วยกัน ได้แก่

  1. ตรวจสภาพของเรือและรถโดยสารอย่างละเอียด เพื่อลดความเสี่ยงจากอุบัติเหตุ ป้องกันไม่ให้เกิดอุบัติเหตุที่ร้ายแรงซ้ำอีก ตามรายงานข่าวที่รายงานเกี่ยวกับการตรวจสภาพเรือที่ภูเก็ต ทางเราคิดว่าควรจะตรวจสภาพเรือและรถของจังหวัดอื่น ๆ ด้วย
  2. ปฏิบัติการตามมาตรฐานความปลอดภัย และตรวจสอบระบบความปลอดภัยอย่างเข้มงวด ตามรายงานข่าวที่เกี่ยวกับเรือฟีนิกส์มีจุดบกพร่องในการออกแบบหลายด้าน อู่ต่อเรือไม่ได้มาตรฐาน ก่อนที่จะปล่อยเรือออกทะเลก็ไม่ได้มีการตรวจสอบอย่างเข้มงวด ทำให้เกิดเหตุการณ์เรือล่ม อุบัติเหตุทางถนนก็เช่นกัน สาเหตุน่าจะมาจากรถโดยสารที่ให้บริการมีอายุเก่าเกินไป รถเสื่อมสภาพ
  3. จัดตั้งระบบการแจ้งเตือนภัยอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด หากสภาพอากาศแปรปรวน ควรมีการประกาศเตือนภัยโดยด่วน และส่งข้อมูลข่าวสารไปยังคนขับเรือและรถ ต้องมั่นใจว่าการแจ้งเตือนภัยนั้นมีผลบังคับใช้ และได้ลงมือปฏิบัติอย่างจริงจัง
  4. จัดตั้งระบบกู้ภัยเมื่อเกิดเหตุอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด ควรมีการจัดอบรมให้ทีมงานกู้ภัยมีความเชี่ยวชาญ รวมถึงอุปกรณ์กู้ภัย เมื่อเกิดเหตุแล้วจะได้เข้าถึงจัดการได้อย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ ลดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินให้น้อยลงที่สุด

เสื้อชูชีพ ความปลอดภัยท่องเที่ยวทะเล

ด้านคุณนรภัทร ปลอดทอง ผู้ว่าราชการจังหวัดภูเก็ต กล่าวว่า หลังจากเกิดอุบัติเหตุดังกล่าว ได้เสนอมาตรการความปลอดภัยการท่องเที่ยวทางเรือต่อรัฐบาล ได้แก่ การจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังและช่วยเหลือผู้ประสบภัยทางทะเล 2 แห่ง คือ อ่าวฉลอง จังหวัดภูเก็ต และบริเวณเกาะยาว จังหวัดพังงา ซึ่งจะดูแลครอบคลุม 3 จังหวัดฝั่งทะเลอันดามัน ได้แก่ ภูเก็ต พังงา และกระบี่

นอกจากนี้ ยังมีเรื่องการจัดระเบียบขณะผู้โดยสารลงเรือ เป้าหมาย คือ ยกระดับให้เทียบเท่ามาตรฐานการขึ้นเครื่องบิน ผ่านขั้นตอนการตรวจสอบจำนวน และตรวจจับใบหน้าผู้โดยสาร รวมถึงการให้ลูกเรือสาธิตความปลอดภัย พร้อมนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ ด้วยการให้นักท่องเที่ยวสวมสายรัดข้อมือ (Wrist Band) เพื่อระบุข้อมูลเฉพาะของผู้สวมใส่แต่ละคน รวมถึงตำแหน่งของนักท่องเที่ยวหากเกิดเหตุการณ์ฉุกเฉิน

โดยปัจจุบัน มีจำนวนคนลงเรือในท่าต่าง ๆ ของภูเก็ตช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น รวมกว่า 2.5-3 หมื่นคนต่อวัน ขณะที่ช่วงโลว์ซีซั่นอยู่ที่ประมาณ 1.8 หมื่นคนต่อวัน นักท่องเที่ยวส่วนใหญ่นิยมลงเรือไปเกาะราชาใหญ่ เกาะราชาน้อย และเกาะเฮ

ฤดูกาลท่องเที่ยว วันหยุด

ขณะที่คุณวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เล่าว่า เป้าหมายในภาพรวมนับจากนี้ คือ การยกร่างมาตรการความปลอดภัยระดับชาติให้เกิดเป็นรูปธรรม หลังจากคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ (ท.ท.ช.) ได้เห็นชอบให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการระดับชาติทำหน้าที่เป็น ‘National Tourism Safety & Security Committee’ เพื่อดำเนินการและจัดทำแผนใน 3 เรื่องหลัก ได้แก่

  1. แผนป้องกันและบริหารความเสี่ยงล่วงหน้า โดยได้มอบหมายให้สำนักงานท่องเที่ยวและกีฬาของแต่ละจังหวัด รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ พร้อมจัดทำคู่มือเตรียมความพร้อม ที่สามารถกระจายข้อมูลไปยังนักท่องเที่ยวทุกกลุ่มทุกภาษา และแนะนำกิจกรรมท่องเที่ยวที่ปลอดภัย
  2. แผนเผชิญเหตุ มีแนวทางจัดการความเสี่ยง เมื่อเกิดเหตุการณ์ขึ้นอย่างชัดเจน เช่น การสื่อสารในภาวะวิกฤติที่ต้องมาจากแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้ และต้องมาจากแหล่งเดียวกัน เพื่อให้ไม่เกิดความสับสน โดยเฉพาะในห้วงเวลานี้ที่ภาค
    ท่องเที่ยวไทยกำลังดำเนินนโยบายกระจายนักท่องเที่ยวที่กระจุกตัวในเมืองหลักกว่า 60% ไปยังแหล่งท่องเที่ยวในเมืองรอง
  3. การถอดบทเรียนจากวิกฤติ และทบทวนแผนเผชิญเหตุทุกไตรมาส เพื่อปรับปรุงให้เข้ากับสถานการณ์และความเสี่ยงมากขึ้นในอนาคต

โดยทั้งหมดที่กล่าวมา ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญ เพื่อให้เกิดความเชี่ยวชาญในการรับมือ และสามารถเตรียมมาตรการเยียวยาที่เหมาะสมต่อไป

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *