Thu. Mar 28th, 2024
ท่องเที่ยวไทย

‘เปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564’ จุดเปลี่ยน ‘ท่องเที่ยวไทย’ พ้นบ่วงโควิด!!

เริ่มคิกออฟอย่างเป็นทางการแล้วสำหรับแผนการ ‘เปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564’ ตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อเดินหน้าเศรษฐกิจไทย จุดไฟแห่งความหวังแก่อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและโรงแรมซึ่งเผชิญวิกฤตโควิด-19 มายาวนานถึง 2 ปี

หลังจากประเดิมเปิดพื้นที่นำร่องเพื่อการท่องเที่ยว นำโดยโครงการ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 ตามด้วยโครงการนำร่องอื่น ๆ อาทิ ‘สมุย พลัส แซนด์บ็อกซ์’ และการเปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติสามารถเดินทางเชื่อมโยงเกาะท่องเที่ยวชื่อดัง โดยใช้ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เป็นฮับการเดินทาง เชื่อมไปยัง จังหวัดสุราษฎร์ธานี (เกาะสมุย เกาะพะงัน เกาะเต่า) จังหวัดกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เล) และจังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาว)

คุณมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) บอกว่า ต้องขอบคุณโครงการ ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ที่ได้ให้ ‘บทเรียน’ แก่หน่วยงานภาครัฐและเอกชนในการเตรียมความพร้อมเปิดประเทศ ต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติมาเยือนประเทศไทยอีกครั้ง

แม้ในช่วงแรก ๆ ของการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมายังมีข้อติดขัดอยู่บ้าง เช่น นักท่องเที่ยวต่างชาติสับสนเรื่องการยื่นเอกสารขอเดินทางเข้าประเทศไทยที่เปลี่ยนแพลตฟอร์มจากการขอใบอนุญาตเดินทางเข้าราชอาณาจักร (Certificate of Entry: COE) มาเป็น ‘ไทยแลนด์พาส’ (Thailand Pass) ผ่านเว็บไซต์ www.tp.consular.go.th แต่ในภาพรวมก็นับว่าค่อนข้างราบรื่นดี โดยทางสมาคมโรงแรมไทยได้ดำเนินการจัดสัมมนาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อเตรียมความพร้อม ซักซ้อมทำความเข้าใจแก่ผู้ประกอบการ พร้อมสรุปเป็นข้อมูลถามตอบเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการนำไปสื่อสารกับนักท่องเที่ยวอีกทอดได้อย่างชัดเจน

ด้านมุมมองของ คุณชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) มองว่า ปัจจัยที่จะช่วยหนุนให้การเปิดประเทศสำเร็จ คือ การกดตัวเลข ‘ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19’ ใหม่รายวันให้เห็นเทรนด์ ‘ขาลง’ ต่อเนื่อง รวมถึงการควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ การเร่งเติมวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ให้เกินเกณฑ์ 70% โดยเฉพาะในเมืองท่องเที่ยว และรณรงค์ให้ผู้ประกอบการทุกภาคส่วนปฏิบัติตามมาตรการด้านสาธารณสุขอย่างเคร่งครัด ทั้งหมดนี้ก็เพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวทั้งต่างชาติและคนไทย

อีกประเด็นสำคัญที่อยากให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือ การเดินหน้าทำ ‘ทราเวลบับเบิล’ (Travel Bubble) เจรจาแลกเปลี่ยนนักท่องเที่ยวระหว่างกันแบบไม่ต้องกักตัวกับประเทศเป้าหมาย เนื่องจากรายชื่อประเทศและพื้นที่ที่สามารถเดินทางเข้ามาในไทยได้แบบไม่ต้องกักตัวและไม่จำกัดพื้นที่ตามที่ศูนย์ปฏิบัติการมาตรการการเดินทางเข้าออกประเทศและการดูแลคนไทยในต่างประเทศ (ศปก.กต.) จากข้อมูลเมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2564 ได้ประกาศรายชื่อเพิ่มจาก 46 ประเทศ เป็น 63 ประเทศ แม้จะเป็นไอเดียทางการทูตที่ดี เป็นฝ่ายเชิญชวนก่อนว่าประเทศไทยอ้าแขนพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยว แต่พบว่าประเทศต้นทางบางประเทศยังมีนโยบายให้เข้ารับการกักตัวเมื่อเดินทางกลับจากประเทศไทย

“หากรัฐบาลเร่งเจรจากับประเทศเป้าหมายเรื่องการทำทราเวลบับเบิล จะช่วยดึงนักท่องเที่ยวต่างชาติได้มากขึ้น โดยเฉพาะตลาดระยะใกล้ในภูมิภาคเอเชีย เนื่องจากกระแสการเดินทางของนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วงแรกของการเปิดประเทศ พบว่าส่วนใหญ่มาจากตลาดระยะไกล”

คุณศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) ให้ความเห็นในทิศทางเดียวกันว่า ปัจจัยสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่นแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติในการเดินทางมาเที่ยวไทย คือ การเร่งกดตัวเลขยอดผู้ติดเชื้อให้น้อยลงอย่างต่อเนื่อง และเร่งฉีดวัคซีนแก่คนไทยทั้งประเทศเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่

ทั้งนี้ จากการหารือกับคู่ค้าบริษัทนำเที่ยวใน ‘ประเทศจีน’ ซึ่งเป็นตลาดหลักของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยประเมินว่า ทางการจีนน่าจะใช้เวลาอีกอย่างน้อยเกือบ 1 ปี นับจากนี้หรือตรงกับช่วงปลายปี 2565 กว่าจะอนุญาตให้ชาวจีนเดินทางออกนอกประเทศได้

โดยในปี 2565 มีบิ๊กอีเวนท์ที่น่าจับตาถึง 2 งานว่าทางการจีนจะดำเนินนโยบายและออกมาตรการใดบ้าง เพื่อทดสอบให้คนเข้าออกประเทศ ได้แก่ การแข่งขันกีฬาโอลิมปิกฤดูหนาวที่กรุงปักกิ่ง และการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ที่นครหางโจว

“แม้รัฐบาลไทยจะประกาศเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564 ผ่อนคลายมาตรการและเงื่อนไขการเดินทางเข้ามาเที่ยวไทยมากขึ้น แต่ทางการจีนยังคงนโยบายเข้มข้นเพื่อสกัดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยรัฐบาลไทยจำเป็นต้องเร่งสื่อสารและสานสัมพันธ์ทางการทูตอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงความจริงใจในการต้อนรับนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน” นายกแอตต้ากล่าว

ทางด้านการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุว่า ตั้งแต่เดือนมกราคม – กันยายน 2564 ประเทศไทยได้ต้อนรับผู้มาเยือนจากต่างประเทศจำนวน 85,845 คน ผ่านโครงการต่าง ๆ อาทิ วีซ่าพิเศษเพื่อท่องเที่ยว (Special Tourist Visa: STV) นักท่องเที่ยวสมาชิกสิทธิพิเศษ Thailand Privilege Card กลุ่มสุขภาพที่เข้ามารับบริการทางการแพทย์ และโครงการเปิดพื้นที่นำร่องเพื่อการท่องเที่ยว (Sandbox) โดยมีนักท่องเที่ยวภายใต้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – ตุลาคม 2564 รวมทั้งสิ้น 60,649 คน ซึ่งประเทศที่มีนักท่องเที่ยวสะสมสูงสุด ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อิสราเอล สหราชอาณาจักร เยอรมนี และฝรั่งเศส

นอกจากนี้ โครงการ‘ไทยแลนด์ รีโอเพนนิ่ง’ (Thailand Reopening) ได้เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งกำหนดมาตรการเดินทางเข้าราชอาณาจักร 3 รูปแบบ ได้แก่ Exemption from Quarantine (Test & Go) ยกเว้นการกักตัวสำหรับผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีนโควิด-19 ครบตามเกณฑ์และเดินทางจากประเทศหรือพื้นที่ที่กำหนด 63 ประเทศ, Living in the Blue Zone พื้นที่สีฟ้า 17 จังหวัด (Sandbox) และ Alternative Quarantine: AQ (Happy Quarantine ทั่วไทย)

ทั้งนี้ ททท. คาดว่า ช่วงเดือนพฤศจิกายน – ธันวาคม 2564 จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาเดือนละประมาณ 300,000 คน เมื่อรวมกับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาก่อนหน้านี้ของปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวนรวมอยู่ที่ 700,000 คน ภายในสิ้นปี 2564

สำหรับคาดการณ์สถานการณ์การท่องเที่ยวปี 2565 กรณีสถานการณ์การท่องเที่ยวฟื้นตัวได้ดี ททท. ตั้งเป้ารายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมดอยู่ที่ 1.58 ล้านล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 8.18 แสนล้านบาท และรายได้จากนักท่องเที่ยวชาวไทย 7.71 แสนล้านบาท อย่างไรก็ตามขึ้นอยู่กับปัจจัยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 การบริหารจัดการสถานการณ์ และภาพรวมเศรษฐกิจทั้งในประเทศและทั่วโลกด้วย

คงต้องตามลุ้นและจับตาดูกันต่อไปว่าการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายน 2564 จะเป็น ‘จุดเปลี่ยน’ สำคัญ ช่วยให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยฟื้นตัวจากบ่วงวิกฤตโควิด-19 ก้าวสู่ฝั่งฝันได้ตามเป้าหมายที่วางไว้หรือไม่?!

ขอบคุณภาพโดย JESHOOTS-com จาก Pixabay , igorovsyannykov จาก Pixabay

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *