Thu. Mar 28th, 2024

ท่องเที่ยวไทยฝ่าวิกฤติโควิด-19

กลายเป็นวิกฤติใหม่ของโลกที่ประเดิมมาตั้งแต่ต้นปี 2020 สำหรับการแพร่ระบาดของโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือโควิด-19 จากประเทศจีน และลุกลามไปยังประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะในเอเชีย ทั้งญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง สิงคโปร์ และไต้หวัน ซึ่งแต่ละประเทศล้วนเป็นตลาดสำคัญของไทยทั้งนักท่องเที่ยวขาเข้า (อินบาวด์) และขาออก (เอาต์บาวด์)

เมื่อโฟกัสเฉพาะตลาดอินบาวด์ แน่นอนว่าเมื่อประธานาธิบดี สี จิ้นผิง ของประเทศจีน ได้ออกคำสั่งห้ามบริษัทนำเที่ยวพาชาวจีนไปเที่ยวต่างประเทศเพื่อระงับการแพร่ระบาดของโรค ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยทั้งห่วงโซ่แบบไม่ทันตั้งตัว ซึ่งมีมูลค่าการสร้างรายได้รวมจากทั้งตลาดในและต่างประเทศราว 3 ล้านล้านบาท

ไล่เรียงตั้งแต่ธุรกิจสายการบิน รถบัส รถตู้ รถเช่า กิจการให้เช่ารถ และเรือสำหรับนักท่องเที่ยว ผู้ให้บริการกิจกรรมนันทนาการท่องทะเล รวมถึงโรงแรมและรีสอร์ต แหล่งท่องเที่ยว สถานบันเทิง สปา บริษัทนำเที่ยว มัคคุเทศก์และผู้นำเที่ยว ร้านอาหาร ร้านขายสินค้าและของที่ระลึก และธุรกิจโรงพยาบาล เรียกได้ว่าเดือดร้อนกันทุกภาคส่วน โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ที่ยังมีสายป่านสั้น สภาพคล่องทางการเงินไม่ได้มีมากเหมือนบริษัทขนาดใหญ่

รัฐบาลจึงเร่งแก้วิกฤติช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยวก่อนที่จะล้มหายตายจาก มุ่งพยุงการจ้างงาน ไม่ให้มีการเลย์ออฟคน ด้วยการออกมาตรการเสริมสภาพคล่องแก่ธุรกิจ ทำความเข้าใจกับสถาบันการเงินให้ช่วยผ่อนปรนเรื่องสินเชื่อ ทั้งการยืดระยะเวลาส่งเงินต้นและลดดอกเบี้ย ช่วยต่อลมหายใจแก่ผู้ประกอบการให้มีเงินหมุนเวียนและช่วยลดค่าใช้จ่ายแก่ธุรกิจ เป้าหมายสำคัญก็คือเพื่อรักษาการจ้างงานให้ได้ในช่วง 3 – 6 เดือนนับจากนี้

ไม่เช่นนั้นเศรษฐกิจไทยอาจพังไม่เป็นท่า เพราะในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวข้อง มีจำนวนแรงงานทั้งหมดกว่า 4 ล้านคน และกว่า 75% หรือ 3 ล้านคน เป็นแรงงานในธุรกิจรายเล็ก ๆ ซึ่งเข้าถึงสินเชื่อได้ยาก เนื่องจากธุรกิจบริการมีความเสี่ยงค่อนข้างสูงในการปล่อยสินเชื่อ

เมื่อสถานการณ์เปลี่ยน การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จึงตัดสินใจปรับลดคาดการณ์รายได้รวมท่องเที่ยวไทยจากทั้งตลาดในและต่างประเทศปี 2563 เหลือ 2.91 ล้านล้านบาท ติดลบ 3.4% เมื่อเทียบกับปีที่แล้ว จากเดิม ก่อนไวรัสโควิด-19 แพร่ระบาด เคยคาดการณ์ว่าปีนี้จะมีรายได้รวม 3.16 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 4%

การปรับลดหลัก ๆ มาจากตลาดต่างประเทศ โดย ททท. กำหนดเป้าใหม่มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทย 36 ล้านคน ลดลง 9.5% เมื่อเทียบกับจำนวนของปีที่แล้ว ส่วนเป้าใหม่รายได้ตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 1.78 ล้านล้านบาท ลดลง 7.7%

เมื่อเทียบกับคาดการณ์เดิม ททท. พบว่าตลาดต่างชาติเที่ยวไทยจะหายไป 4.78 ล้านคนหรือเกือบ 5 ล้านคน ขณะที่รายได้ตลาดต่างประเทศจะหายไป 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นประมาณการใกล้เคียงกับที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาประเมินว่าท่องเที่ยวไทยจะสูญเสียรายได้ราว 3 แสนล้านบาทในปีนี้

คุณดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองว่า หากเป็นไปอย่างที่ ททท. ประเมิน จะทำให้จีดีพีของไทยปีนี้ที่ ธปท. คาดการณ์ไว้ว่าจะขยายตัว 2.8% เหลือขยายตัวไม่ถึง 2%

“ยอมรับว่าปี 2563 เป็นปีแห่งวิบากกรรมของเศรษฐกิจไทย อยู่ในภาวะน่าเป็นห่วง เพราะมีปัจจัยลบรุมเร้าถึง 3 ปัจจัยพร้อมกัน คือ ภาวะภัยแล้ง ความล่าช้าของงบประมาณปี 2563 และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งส่งผลกระทบหนักต่อเศรษฐกิจไทยพอสมควร เนื่องจากภาคท่องเที่ยวสร้างรายได้คิดเป็น 20% ของจีดีพี เกี่ยวข้องกับทั้งโรงแรม ภัตตาคาร ค้าปลีก ขนส่ง และอื่น ๆ คิดเป็น 20% ของการจ้างงานรวมภายในประเทศ”

แม้คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มีมติลดดอกเบี้ยครั้งล่าสุดเหลือ 1% ต่ำที่สุดในประวัติศาสตร์นับตั้งแต่มี ธปท. มา จะไม่ได้ช่วยให้เกิดการปล่อยสินเชื่อเพิ่มมากนัก แต่ก็หวังว่าจะช่วยลดภาระเงินกู้แก่ผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อให้เกิดสภาพคล่องและช่วยปรับโครงสร้างหนี้ของภาคธุรกิจ เพราะถ้าไม่ดูแลให้ดี อาจเกิดวิกฤติสภาพคล่องทั้งระบบของภาคธุรกิจท่องเที่ยว กระทบต่อเนื่องถึงสภาพคล่องของครัวเรือนและการจ้างงานในภาพรวมได้

ด้านคุณอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัย ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย ประเมินว่า เศรษฐกิจไทยมีความเสี่ยงที่จะเข้าสู่ภาวะถดถอยทางเทคนิค คงเหลือเพียงมาตรการทางการเงินในการช่วยพยุงเศรษฐกิจ โดยสำนักวิจัยฯ คาดว่า กนง. มีโอกาสปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกครั้งสู่ระดับ 0.75% ต่อปี ภายในเดือนพฤษภาคมนี้ หรือเร็วที่สุดอาจเป็นการประชุมรอบวันที่ 25 มีนาคม 2563 เพื่อเสริมสภาพคล่องให้ตลาดการเงิน และลดต้นทุนผู้ประกอบการ อีกทั้งคงพยายามให้เงินบาทอ่อนค่าเทียบสกุลอื่นเพื่อช่วยเหลือผู้ส่งออก

“เราเชื่อว่าการลดดอกเบี้ยช่วยประคองเศรษฐกิจไม่ให้ทรุดตัวแรง แต่ยากที่จะเปลี่ยนทิศเศรษฐกิจขาลงในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ จึงมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยจะเข้าสู่ภาวะการถดถอยทางเทคนิคในช่วงครึ่งปีแรกนี้ แต่ภาวะนี้ไม่ใช่วิกฤติเศรษฐกิจที่จีดีพีหดตัวแรงจนเกิดปัญหาต่อสถาบันการเงินหรือภาคธุรกิจจริง เพราะยังเชื่อว่าเศรษฐกิจจะฟื้นตัวได้ในช่วงครึ่งหลังของปีจากงบประมาณที่จะเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและจากการคลี่คลายของปัญหาไวรัสโควิด-19 ที่นักท่องเที่ยวและการส่งออกจะกลับมาเติบโตได้ดีในช่วงครึ่งปีหลัง”

ทั้งนี้ สำนักวิจัยฯ ได้ปรับลดประมาณการการเติบโตทางเศรษฐกิจปีนี้ลงอีกครั้งจาก 2.3% เหลือ 1.7% จากปัจจัยกดดันเพิ่มเติม คือ ผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 ที่กระทบการท่องเที่ยวและจะลามมาสู่ภาคการผลิตที่จะหดตัวจากการขาดวัตถุดิบจากจีนอีกทอดหนึ่ง “เมื่อเศรษฐกิจชะลอจากปัจจัยรุมเร้า ในมุมของนักเศรษฐศาสตร์จะช่วยหาทางปรุงวัคซีนเพื่อมาฟื้นฟู และช่วยให้เศรษฐกิจสามารถเลี่ยงภาวะวิกฤติที่อาจจะเกิดได้อย่างไรบ้าง เราจึงขอเสนอวัคซีนวินส์ (WINS)” ได้แก่

1. งานแลกเงิน (Workfare) ภาครัฐอาจเพิ่มเงินโอนด้านสวัสดิการแห่งรัฐหรือการแจกเงินผู้มีรายได้น้อยชั่วคราวซึ่งจำเป็นในปัจจุบัน โดยเฉพาะกลุ่มภาคเกษตรซึ่งโดนผลกระทบจากภัยแล้ง คนมีรายได้น้อยกำลังซื้อต่ำ แต่เงินดังกล่าวอาจได้รับการส่งเสริมให้คนเหล่านี้มีความมั่นคงทางการเงินในระยะยาว

2. ประคองให้ผ่านวิกฤติ (Inject liquidity) ในช่วงที่นักท่องเที่ยวหาย ยอดขายตก ผู้ประกอบการมีปัญหาสภาพคล่อง ลูกจ้างถูกลดชั่วโมงทำงานหรือให้พักงานชั่วคราวโดยไม่จ่ายค่าจ้าง ทางภาครัฐอาจจะหามาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบ ซึ่งที่ผ่านมาได้ทำไปบ้างแล้ว เช่น การให้สินเชื่อพิเศษในลักษณะเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจสามารถอยู่รอดได้และมีเงินจ่ายค่าจ้างพนักงาน และอาจครอบคลุมถึงการเสริมสินเชื่อพิเศษให้แก่พนักงานหรือธุรกิจค้าขายอื่น ๆ ที่ได้รับผลกระทบ

3. ท่องเที่ยวพลิกโฉม (New Tourism) ไทยยังพึ่งการท่องเที่ยวได้อยู่ แต่ต้องปรับตัว ที่ผ่านมาประเทศไทยพึ่งพาการท่องเที่ยวเพียงไม่กี่จังหวัด และเน้นนักท่องเที่ยวจีนมากราว 30% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ส่วนชาติยุโรปก็มาเป็นฤดูกาลซึ่งทำให้ธุรกิจเงียบเหงาในช่วงอื่น น่าจะใช้โอกาสนี้ปรับตัวสร้างแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดต่าง ๆ ในแต่ละภูมิภาค สร้างตลาดคนไทยให้ท่องเที่ยวในประเทศ ทุกพื้นที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว ใช้จุดแข็งดึงดูดการท่องเที่ยวเป็นตัวเสริม เพิ่มรายได้ชุมชนนอกจากภาคเกษตร แต่อุปสรรคสำคัญ คือ ความลำบากในการเดินทาง ซึ่งหากพื้นที่แต่ละแห่งสามารถอำนวยความสะดวกในการเดินทาง จัดรูปแบบการท่องเที่ยวแบบกลุ่มให้สะดวก เชื่อว่าจะช่วยฟื้นฟูภาคการท่องเที่ยวและช่วยกระจายรายได้ลงพื้นที่ต่าง ๆ ได้

4. หวังพึ่งมนุษย์เงินเดือน (Salaryman) เวลานี้เหลือกำลังซื้อระดับกลาง-กลางบน โดยเฉพาะกลุ่มมนุษย์เงินเดือนที่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ยิ่งดูดี ๆ อาจมีเพียง 3 – 4 ล้านคนที่มีกำลังซื้อมากพอจะหวังพึ่งเขาเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ กลุ่มนี้คือผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาจากผู้ที่อยู่ในระบบประกันสังคมร่วม 15 ล้านคน (คนที่เหลือในระบบมีรายได้พึงประเมินไม่มากพอจะต้องเสียภาษี) น่าใช้โอกาสนี้ดึงเขามาใช้เงินด้วยการลดอัตราภาษี ไม่ใช่เพียงเพิ่มค่าลดหย่อนในการซื้อสินค้าหรือท่องเที่ยว และอาจทำเป็นการชั่วคราวในปีนี้ เพื่อพยุงให้ทุกฝ่ายผ่านพ้นวิกฤติครั้งใหญ่นี้ไปอย่างบาดเจ็บให้น้อยที่สุด

ที่มา : นิตยสาร Thai Hotel & Travel Magazine ฉบับเดือน เมษายน – พฤษภาคม 2020

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *