Thu. Mar 28th, 2024
ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์

กดปุ่มสตาร์ท ‘ภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์’ ลุยเดิมพัน ‘เปิดประเทศภายใน 120 วัน’

ผ่านไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว สำหรับการคิกออฟโครงการ ‘ภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์’ เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2564 นำร่องเปิดเมืองภูเก็ตรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนครบโดสแล้วและมีผลการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เป็นลบก่อนเดินทางเข้ามา และต้องอยู่ภายในพื้นที่ภูเก็ตอย่างน้อย 14 คืน หากต้องการไปเที่ยวพื้นที่อื่น ๆ ในไทย นับเป็นพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวแห่งแรกของประเทศไทย สอดรับกับนโยบาย ‘เปิดประเทศภายใน 120 วัน’ ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ซึ่งออกแถลงการณ์เมื่อวันที่ 16 มิถุนายนที่ผ่านมา

แม้ในช่วงก่อนเปิดโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ไม่กี่วัน จะมีความขลุกขลักอยู่บ้างตรงการออกใบอนุญาตการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry : COE) จากสถานทูตไทยในประเทศต้นทางแก่นักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมายังภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ เที่ยวทั่วเกาะแบบไม่ต้องกักตัว เนื่องจากหากไม่มีการประกาศในราชกิจจานุเบกษาอย่างเป็นทางการ จะไม่สามารถออก COE ให้นักท่องเที่ยวได้

กระทั่งมีการประกาศในราชกิจจาฯ เมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) จึงได้ปลดล็อกปัญหาอุปสรรคการออก COE ทำงานกันอย่างเร็วรี่ตลอด 24 ชั่วโมง ช่วยกู้หน้ารัฐบาล ผลักดันให้โครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์เดินหน้าได้ ทำให้วันแรกมียอดนักท่องเที่ยว 326 คน จากเที่ยวบินปฐมฤกษ์ของ 4 สายการบินเข้าภูเก็ต ได้แก่ เอทิฮัด, กาตาร์ แอร์เวย์ส, แอล อัล อิสราเอล แอร์ไลน์ และสิงคโปร์ แอร์ไลน์ รวมกับอีก 1 เที่ยวบินซึ่งเป็นไพรเว็ตเจ็ทหรือเครื่องบินส่วนบุคคล

คุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า จากข้อมูลเมื่อวันที่ 5 กรกฎาคมที่ผ่านมา พบว่าโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มียอดการจองห้องพักโรงแรมที่ได้เครื่องหมายมาตรฐานความปลอดภัยด้านการท่องเที่ยวและสุขอนามัย ‘SHA Plus’ ในช่วงไตรมาส 3 ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2564 ที่จำนวนรวม 99,796 คืน (รูมไนท์)

แบ่งเป็นเดือนกรกฎาคม จำนวน 92,926 รูมไนท์ คิดเป็นสัดส่วน 92% ของยอดจองห้องพักรวมล่าสุด จึงคาดว่าน่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ในช่วงเดือนกรกฎาคมนี้ไม่น้อยกว่า 10,000 คน จากจำนวนวันพำนักเฉลี่ย 12 คืนต่อคน ส่วนเดือนสิงหาคม มีจำนวน 6,225 รูมไนท์ คิดเป็น 6% และเดือนกันยายนมีจำนวน 645 รูมไนท์ คิดเป็น 0.6%

เมื่อดูจำนวนการจองห้องพักตั้งแต่เดือนตุลาคม 2564 – กุมภาพันธ์ 2565 ซึ่งอยู่ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวหรือไฮซีซั่น มีจำนวนการจองทยอยเข้ามาแล้ว 936 รูมไนท์ คิดเป็น 0.9% และเมื่อรวมกับยอดตลอดไตรมาส 3 ของปีนี้มีจำนวนรวมที่ 100,732 รูมไนท์

“การเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทย จะไม่ได้ไหลเข้ามาแบบทำนบแตก แต่เป็นการทยอยเข้ามามากกว่า”

คุณศิริปกรณ์ เชี่ยวสมุทร รองผู้ว่าการด้านตลาดยุโรป แอฟริกา ตะวันออกกลาง และอเมริกา ททท. กล่าวเสริมว่า นักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์มียอดการจองห้องพักเฉลี่ยอยู่ที่ 12 คืน นั่นหมายความว่ามาเที่ยวภูเก็ตแบบไม่กักตัวแล้วเดินทางกลับประเทศต้นทางเลย


แต่เมื่อดูยอดจองของผู้โดยสาร ‘การบินไทย’ พบว่าส่วนใหญ่มาพำนักในไทยประมาณ 1 เดือน เริ่มต้นโปรแกรมที่ภูเก็ตก่อน เมื่ออยู่ครบ 14 คืนตามเงื่อนไขแนวทางปฏิบัติ ถึงจะเดินทางไปยังพื้นที่อื่นในไทย เช่น เขาหลัก จังหวัดพังงา รวมถึง จังหวัดเชียงใหม่ ที่เริ่มเห็นยอดการจองห้องพักล่วงหน้าไหลเข้ามา และปิดท้ายด้วยกรุงเทพฯ ก่อนจะเดินทางออกจากสนามบินสุวรรณภูมิเพื่อกลับสู่ประเทศต้นทาง คุณยุทธศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับโครงการนำร่องที่ 2 วางคิวต่อจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ คือ โครงการ ‘สมุย พลัส’ เชื่อมโยงการท่องเที่ยวของ 3 เกาะดังในจังหวัดสุราษฎร์ธานี ได้แก่ เกาะสมุย เกาะพะงัน และเกาะเต่า เตรียมเปิดโครงการดังกล่าวในวันที่ 15 กรกฎาคมนี้

สำหรับรูปแบบของโครงการสมุย พลัส จะต่างจากภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ที่ไม่ต้องถูกกักตัว โดยนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเกาะสมุยใน 3 วันแรกต้องอยู่ในบริเวณโรงแรม วันที่ 4 – 7 สามารถออกจากพื้นที่โรงแรมได้ แต่ต้องท่องเที่ยวตามเส้นทางที่กำหนด (Sealed Route) ภายในเกาะสมุยเท่านั้น

โดยในช่วง 7 วันแรก นักท่องเที่ยวต้องเข้าพักโรงแรมที่ผ่านการประเมินเป็นสถานกักตัวทางเลือก (Alternative Local Quarantine : ALQ) เท่านั้น ปัจจุบันมี 9 แห่ง รวม 254 ห้องพัก ได้แก่ โรงแรมเดอะสปา สมุย รีสอร์ท, โรงแรมเชอราตัน สมุย รีสอร์ท, โรงแรมบ้านหินทราย รีสอร์ท แอนด์ สปา, โรงแรม 2500 Ixora Villa Samui, โรงแรมออร่า บีช รีสอร์ท, โรงแรม The Briza Beach Resort, โรงแรมเดอะละไม, โรงแรม Fair House Villas and Resort และโรงแรม Nober (เปิด 1 ตุลาคม 2564) 

หลังจากนั้นในวันที่ 8 – 14 นักท่องเที่ยวสามารถนั่งเรือไปท่องเที่ยวและพักที่เกาะพะงันและเกาะเต่าได้ แต่ต้องเป็นโรงแรมที่ได้มาตรฐาน SHA Plus เท่านั้น เนื่องจากมีการระบุไว้ในหลักเกณฑ์การปฏิบัติสำหรับการเข้าประเทศที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่เนื่องจากโรงแรมบนเกาะพะงันและเกาะเต่าตั้งอยู่ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติ จึงไม่มีใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการได้รับมาตรฐาน SHA Plus จึงอยู่ระหว่างหาแนวทางแก้ไข

“ททท. คาดว่าในช่วง 1 เดือนแรกนับตั้งแต่ 15 กรกฎาคม – 15 สิงหาคมนี้ จะมีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาโครงการสมุยพลัสไม่มากนัก คาดมีไม่น้อยกว่า 1,000 คน สร้างรายได้กว่า 100 ล้านบาท แต่ถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นในการดึงนักท่องเที่ยวมาเยือน 3 เกาะดังของจังหวัดสุราษฎร์ธานี ในช่วงไฮซีซั่นตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – สิงหาคมนี้”

ด้านการเปิดพื้นที่อื่น ๆ ต่อจากโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์และสมุยพลัส ในวันที่ 1 สิงหาคม 2564 จะเปิดเส้นทางท่องเที่ยวส่วนขยาย (Extension) ไปยัง 2 พื้นที่ทะเลฝั่งอันดามัน ได้แก่ จังหวัดกระบี่ (เกาะพีพี เกาะไหง ไร่เล) ภายใต้โครงการ ‘Krabi Even More Amazing’ และ จังหวัดพังงา (เขาหลัก เกาะยาว) ภายใต้โครงการ ‘Phang Nga Prompt’

ส่วนพื้นที่เปิดทางบก เตรียมเปิด จังหวัดชลบุรี ในพื้นที่พัทยา บางละมุง และสัตหีบ ภายใต้ชื่อ ‘Neo Pattaya’ หรือที่ภาคเอกชนท่องเที่ยวพัทยาใช้ชื่อว่า Pattaya Moves On ในวันที่ 1 กันยายน 2564 รวมถึงการเปิดพื้นที่หัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และชะอำ จังหวัดเพชรบุรี ในวันที่ 1 ตุลาคม 2564 ล่าสุดปรับใช้ชื่อว่า ‘ไทยแลนด์ ริเวียร่า’ เปิดพร้อมกับพื้นที่กรุงเทพฯ ที่ยังต้องติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 อย่างใกล้ชิด

โดย ททท. ได้ขอให้ทั้ง 2 พื้นที่ลองคิดโมเดลการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ฉีดวัคซีนแล้วเป็นแผนสำรอง เนื่องจากเป็นพื้นที่เปิด อาจต้องระวังพื้นที่ทางบกมากขึ้น เช่น มีการนั่งรถบัสตรงจากสนามบินสุวรรณภูมิไปยังโรงแรมทันทีที่ผ่านขั้นตอนการตรวจหาเชื้อโควิด-19 เสร็จเรียบร้อย และแทนที่จะทำโมเดลแบบเกาะสมุยซึ่งมีสูตรวันเดินทาง 3+4+7 ก็อาจจะเปลี่ยนเป็นสูตร 0+5+9 กล่าวคือ 5 วันแรกให้อยู่ภายในเฉพาะบริเวณโรงแรมก่อน พอเริ่มวันที่ 9 ถึงให้ออกไปท่องเที่ยวในเส้นทางที่กำหนดเฉพาะได้

ส่วนพื้นที่อื่น ๆ ที่วางกำหนดเปิดเมืองในวันที่ 1 กันยายนนี้ คือ จังหวัดเชียงใหม่ (อำเภอเมือง, อำเภอแม่ริม, อำเภอแม่แตง และ อำเภอดอยเต่า) ภายใต้โครงการ ‘Charming Chiang Mai’ ส่วนอีกพื้นที่ คือ จังหวัดบุรีรัมย์ (อำเภอเมือง และสนามช้างอารีนา เพื่อรองรับการแข่งขันโมโตจีพีที่จะได้ฤกษ์แข่งในช่วงต้นเดือนตุลาคมนี้

ทั้งหมดนี้ คือ แผนการ ‘Reopen Thailand’ เปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวโดยไม่กักตัวในระยะแรก ของ ททท. สอดรับกับนโยบายของนายกฯ ที่พร้อมเดิมพันเปิดประเทศภายใน 120 วัน เพื่อให้รายได้ภาคการท่องเที่ยวไทยฟื้นตัว กลับมาเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เดินไปข้างหน้า ท่ามกลางวิกฤติโควิด-19 ที่ดูแนวโน้มแล้วไม่น่าจะหายไปจากโลกนี้ภายในเร็ววัน!

ขอบคุณภาพถ่ายโดย Shutter Stock , Alexandr Podvalny จาก Pexels

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *