Sat. Oct 12th, 2024
กระแส ตช.มาเที่ยวไทยพร้อมการดูแลสุขภาพ เทรนด์ใหม่-ค่าใช้จ่ายสูงตอบโจทย์เป้าหมาย รบ.

กระแส ตช.มาเที่ยวไทยพร้อมการดูแลสุขภาพ เทรนด์ใหม่-ค่าใช้จ่ายสูงตอบโจทย์เป้าหมาย รบ.

สัญญาณอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในช่วงที่เหลือของปีนี้ ถือว่า ยังแรงดีไม่มีท่าทีว่าจะตก เพราะนอกจากตลาดระยะไกลอย่างอเมริกา แอฟริกาใต้ ที่เริ่มหันมาเลือกเมืองไทยเป็นแลนมาร์คสำหรับพักผ่อนท่องเที่ยวมากขึ้นแล้ว ตลาดระยะใกล้เองก็ยังคงมาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง แม้ช่วงต้นปีตลาดจะตกลงไปบ้าง เพราะผลพวงจากการปราบทัวร์ผิดกฎหมายของรัฐบาลไทย ปลายปี 2559 จนส่งผลต่อเนื่องกับตลาดจีนเรื่อยยาวถึงปี 2560 แต่หลายหน่วยงานด้านธุรกิจก็ออกมาเน้นย้ำแล้วว่า บรรยากาศท่องเที่ยวในช่วงไตรมาส 3 ยาวไปถึงสิ้นปีจะยังสดใสอย่างแน่นอน แต่ก็มาพร้อมกับแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงของเทรนด์การท่องเที่ยว ทั้งการเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (เอฟไอที) เพิ่มสูงขึ้น และกระแสการเดินทางท่องเที่ยวพร้อมกับการดูแลสุขภาพ (Wellness) ที่ได้รับความนิยมขึ้นเรื่อยๆ

คุณกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา แสดงความเห็นว่า นอกจากความนิยมนักท่องเที่ยวแบบเอฟไอที จากทุกตลาดมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น อย่างเห็นได้ชัดในปัจจุบันแล้ว กระแสการเดินทางเพื่อมา รักษาสุขภาพ หรือเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพของนักท่องเที่ยวจากกลุ่มตลาดต่างๆ เข้ามาเพิ่มขึ้นอย่างโดดเด่นเช่นกัน

ซึ่งเห็นว่า ทางผู้ประกอบการโรงแรม หรือแม้แต่บริษัททัวร์ก็ตาม ควรมองหาแนวทางรับมือกับปรากฏการณ์ที่กำลังจะ เกิดขึ้นนี้มากขึ้น ในเรื่องของห้องพักรับรองสำหรับตลาดกลุ่มนี้โดยเฉพาะ หรือบริการรับส่งไปตามสถานพยาบาลต่างๆ เพราะถือเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการใช้จ่ายสูง และพร้อม ที่จะจ่าย

“กระทรวงท่องเที่ยวฯ ได้มีแผนส่งเสริมความต้องการนักท่องเที่ยว เจาะกลุ่มตลาดคุณภาพ ด้วยการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณายกเว้นวีซ่านักท่องเที่ยวจากประเทศฟิลิปปินส์ ที่มีวัตถุประสงค์เข้ามารับการรักษาพยาบาลในไทยให้พำนัก ระยะยาว 90 วัน และผู้ติดตามอีก 3 คนใช้สิทธิเดียวกัน ซึ่งสาเหตุที่ต้องการเพิ่มจำนวนวันพักให้ตลาดนักท่องเที่ยวจากประเทศฟิลิปปินส์ เพราะต้องการขยายตลาดจากเดิมที่ ครม. อนุมัติให้กลุ่มประเทศ CLMV หรือกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม และประเทศจีนไปแล้ว เนื่องจากเห็นศักยภาพตลาดฟิลิปปินส์ที่มีการเติบโตสูง เป็นประเทศที่เศรษฐกิจขยายตัวมากที่สุดแห่งหนึ่งในอาเซียน ใช้จ่ายในไทยค่อนข้างมาก ในแต่ละครั้ง” เช่นเดียวกับคุณยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ที่ระบุว่า ททท. มีแนวคิดส่งเสริมการ ท่องเที่ยวเชิงกีฬา โดยนำรวมเข้ากับกลุ่ม Wellness หรือ การดูแลสุขภาพ เพราะเห็นว่าทั้ง 2 กลุ่มมีความสนใจใกล้เคียงกัน ประกอบกับกลุ่มนักกีฬาที่เดินทางมาแข่งขันปัจจุบันยังมีฐานตลาดไม่ถึง 1% แต่กลับมีศักยภาพในการเติบโตสูงมาก ซึ่ง ททท. เห็นว่า หากนำเสนอจุดขายสินค้าด้านการดูแลสุขภาพที่โดดเด่นอยู่แล้ว เช่น การตรวจร่างกาย ฟื้นฟูและชะลอวัย ก็น่าจะทำให้เกิดการจับจ่ายเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 4-5 หมื่นล้านบาทต่อปี ทั้งนี้ จากข้อมูลพบว่า การใช้จ่ายของกลุ่มท่องเที่ยวเชิงสุขภาพที่มีค่าใช้จ่ายต่อการมาไทย 1 ครั้ง อยู่ที่ 1 หมื่นบาท ส่วนการเล่นกีฬา เช่น กอล์ฟมีค่าใช้จ่าย 7 พันบาท ดังนั้น ค่าใช้จ่ายต่อหัวจะเพิ่มเป็น 1.7 หมื่นบาท และหาก ททท. สามารถเพิ่มกลุ่มนี้ได้ราว 3 ล้านคน หรือราว 9-10% ของ นักท่องเที่ยวที่เข้ามาทั้งหมด ก็จะทำให้ประเทศมีรายได้ ท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นราว 5 หมื่นล้านบาท

เที่ยวไทยพร้อมการดูแลสุขภาพ เทรนด์ใหม่

“ททท. วางแผนกลยุทธ์การตลาดเพื่อส่งเสริมกลุ่มกำลังซื้อสูงจากตะวันออกกลาง โดยมุ่งเจาะเซกเมนต์ใหม่ที่มีศักยภาพเพิ่มเติม หลังจากที่ไทยสร้างฐานนักท่องเที่ยวเชิงแพทย์ (Medical Tourism) มาจนเป็นที่รู้จักในระดับหนึ่งแล้ว ซึ่งหลังจากการหารือกับบริษัทนำเที่ยว และสายการบินในพื้นที่ พบว่า ตลาดฮันนีมูน และกลุ่มเดินทางแบบครอบครัว ยังมีศักยภาพในการส่งเสริมให้เติบโตได้อีก ดังนั้น จึงได้ใช้ความร่วมมือจากการที่ ททท.ลงนามบันทึกความเข้าใจ หรือ MOU ร่วมกับ 4 สายการบินใหญ่ในภูมิภาคตะวันออกกลาง ได้แก่ เอทิฮัด เอมิเรตส์ กาตาร์แอร์เวย์ส และฟลายดูไบ เตรียมแบ่งการเจาะตลาดรายเซกเมนต์ เพื่อเข้าถึงกลุ่มเป้าหมาย กระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจเดินทางได้ทันที”

นอกจากนี้ ยังเตรียมฟื้นฟูภาพลักษณ์ของไทยในฐานะจุดหมายที่เป็นมิตรกับมุสลิม (Muslim Friendly Destination) ขึ้นมาอีกครั้ง โดยอาจจะผนวกนำเรื่องการส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงอาหาร (Gastronomy Tourism) ที่เป็นจุดขายหลัก นำมาแตกยอดนำเสนอเรื่องอาหารสำหรับชาวมุสลิม เนื่องจากไทยมีบริการ ที่หลากหลายอยู่แล้ว เพื่อทำให้อันดับความนิยมด้านท่องเที่ยวขยับเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจของมาสเตอร์การ์ด ร่วมกับ เครสเซนต์เรตติ้ง ในหัวข้อ ‘โกลบอล มุสลิม ทราเวล อินเด็กซ์’ ประจำปี 2560 พบว่า ไทย ยังคงรั้งอันดับ 2 ของประเทศ ที่ไม่ใช่มุสลิม ซึ่งได้รับความนิยมด้านท่องเที่ยวจากชาวมุสลิม มากที่สุด เป็นรองเพียงประเทศสิงคโปร์ แต่ในภาพรวมของระดับโลก เมื่อเทียบกับประเทศทั้งหมดทั้งที่ใช่และไม่ใช่มุสลิม ปีนี้ไทยขยับขึ้นจากอันดับที่ 20 มาอยู่ที่ 18 โดยมีมาเลเซียอันดับ 1 ของโลก ตามด้วยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ และอินโดนีเซีย

ทิศทางการเจาะตลาดคุณภาพ โดยเฉพาะกลุ่มสุขภาพและกลุ่มนักท่องเที่ยวอิสลาม ก็เป็นเสมือนกระจกสะท้อนถึงผู้ประกอบการที่ควรเตรียมตัวรับมือตอบโจทย์กับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้น เพราะเมื่อกลุ่มเป้าหมายนักท่องเที่ยวเข้ามามากขึ้นจริง ถึงครานั้นผู้ประกอบการจะได้รับประโยชน์เต็มๆ ไม่ต้องปรับตัวแบบกะทันหัน

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *