เทรนด์ ‘การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์และสุขภาพ’ (Medical & Wellness Tourism) ยังคงหอมหวล และมาแรงต่อเนื่อง ด้วยมูลค่าทางเศรษฐกิจด้านสุขภาพทั่วโลก (Global Wellness Economy) มีมูลค่าหลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
นายแพทย์ตนุพล วิรุฬหการุญ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท บีดีเอ็มเอส เวลเนส คลินิก จำกัด และบริษัท บีดีเอ็มเอส เวลเนส รีสอร์ท จำกัด บอกว่า เมื่อปี 2562 ก่อนวิกฤติโควิด-19 ระบาด ข้อมูลจากสถาบันโกลบอล เวลเนส (Global Wellness Institute: GWI) ระบุว่า เศรษฐกิจด้านสุขภาพทั่วโลกมีมูลค่าตลาดรวม 4.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตเฉลี่ยปีละ 6.4% จากปี 2560 ซึ่งมีมูลค่า 4.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
อันดับ 1 คือกลุ่มการดูแลตัวเอง ความสวยความงาม และการชะลอวัย มีมูลค่ามากถึง 1.08 ล้านล้านดอลลาร์ ตามด้วยอันดับ 2 กลุ่มกิจกรรมการออกกำลังกาย 8.28 แสนล้านดอลลาร์ อันดับ 3 กลุ่มการกินเพื่อสุขภาพ โภชนาการ และการลดน้ำหนัก 7.02 แสนล้านดอลลาร์ และอันดับ 4 กลุ่มการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (Wellness Tourism) มีมูลค่า 6.39 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ถือเป็นขาใหญ่ของตลาดสุขภาพทั่วโลก จากสถิติเมื่อปี 2563 ซึ่งเป็นปีแรกที่โควิด-19 ระบาด เดิมคาดการณ์กันว่ามูลค่าตลาดนี้อาจจะหดตัว แต่มูลค่าตลาดกลับขยับเพิ่มมาอยู่ที่ 8.01 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดว่าในอีก 10 ปีข้างหน้า หรือในปี 2573 มูลค่าตลาดจะเติบโตขึ้น 2 เท่า เป็น 1.59 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ เติบโตสูง 7.2% ต่อปี หรือสูงกว่าทั้งอุตสาหกรรมสุขภาพโลก
ตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพจึงกลายเป็น ‘ยูนิคอร์นใหม่’ ของภาคท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยในยุคโควิด-19 และหลังจากนี้อาศัยศักยภาพที่แข็งแกร่ง 2 เรื่องหลักมาผสานพลังกัน ได้แก่ พื้นฐานการท่องเที่ยวของประเทศไทยในฐานะจุดหมายปลายทางยอดนิยมของโลก และพื้นฐานด้านระบบการแพทย์ ซึ่งชาวต่างชาติให้การยอมรับ และโหวตว่าการแพทย์ของประเทศไทยน่าเชื่อถือ นำไปต่อยอดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพได้ในหลาย ๆ มิติ
“ลูกค้ากลุ่ม Wellness Tourism คือ คนไม่ป่วย เขาต้องการออกไปเที่ยวมากกว่ากลุ่มคนป่วย เช่น ไปกิน เที่ยว ออกกำลังกาย ใช้บริการสปา และนวดไทย ทั้งแบบไปเที่ยวเพื่อตั้งใจดูแลสุขภาพโดยเฉพาะ หรือไปเที่ยวเป็นหลัก แต่ถ้ามีสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพ ก็สนใจ ไม่ว่าจะเป็นการเลือกกินอาหารที่ดี ใช้บริการต่าง ๆ ที่ช่วยลดความเครียด ปรับพฤติกรรมด้านสุขภาพ เช็กอัพร่างกาย เป็นการดูแลสุขภาพเชิงรุก (Proactive) แบบไม่ต้องรอป่วยก่อนค่อยเริ่มดูแล” นายแพทย์ตนุพล กล่าว
ทั้งนี้หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย ข้อมูลจากสถาบัน GWI คาดการณ์เศรษฐกิจด้าน ‘การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์’ (Medical Tourism) ว่าจะกลับมาเติบโตและแข็งแกร่งขึ้นเฉลี่ย 9.9% ต่อปี ขณะที่มูลค่าของ ‘เศรษฐกิจด้านสุขภาพทั่วโลก’ จะเติบโตสูงแตะ 7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2568
ภาพรวมตลาดการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ระบุว่ารายได้จากการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ คิดเป็น 15% ของรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งหมด มีอัตราการเติบโตต่อปีสูงถึง 7.5% สะท้อนถึงศักยภาพของตลาดนี้ในอนาคต โดยมีมูลค่ามากเป็นอันดับ 4 รองจากการท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติ การท่องเที่ยวเชิงอาหาร และการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
เมื่อเร็ว ๆ นี้ International Healthcare Research Center (IHRC) ยังให้ข้อมูลด้วยว่า การท่องเที่ยวเชิงการแพทย์ของประเทศไทยมีขนาดใหญ่ติดอันดับ 5 จากการประเมินจุดหมายปลายทางเพื่อการแพทย์ยอดนิยมทั่วโลก นอกจากนี้ ด้วยศักยภาพของประเทศไทยในการรองรับนักท่องเที่ยวและคุณภาพของบริการทางการแพทย์ซึ่งได้รับการยอมรับจากทั่วโลก ส่งผลให้ไทยติดอันดับ 6 ของภูมิภาคเอเชีย จากการสำรวจ Medical Tourism Index
ขณะที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จับเทรนด์ ‘Travel for Health’ สอดรับกับความต้องการของนักท่องเที่ยวกลุ่ม ‘เฮลตี้ ไลฟ์สไตล์’ สนใจการดูแลสุขภาพมากขึ้น ด้วยการตั้งเป้าหมายผลักดันให้ประเทศไทยเป็น ‘Medical and Wellness Resort of the World’ ภายในปี 2567 อีกด้วย
แพทย์หญิงรัตน์กวิน จิตตวัฒนรัตน์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญอายุรศาสตร์มะเร็งและศาสตร์ชะลอวัย กล่าวในฐานะ ผู้อำนวยการทางการแพทย์ของ ‘เชวาลา’ (CHEVALA) เมดิคัลฮับเพื่อการฟื้นฟูสุขภาพและความงามแบบองค์รวมระดับพรีเมียม 6 ดาวแบรนด์ใหม่ว่า หลังจากสถานการณ์โควิด-19 เริ่มคลี่คลาย คาดว่าความต้องการด้าน ‘การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม’ จะเพิ่มสูงยิ่งขึ้น
การปั้นแบรนด์ ‘เชวาลา’ เกิดขึ้นจากแนวคิดที่ว่าประเทศไทยยังไม่มี Medical Wellness Center ที่มอบการดูแลฟื้นฟูร่างกายแบบครบวงจรและวัดผลได้จริงทางการแพทย์ จึงอยากสร้างฮับการแพทย์แห่งใหม่ที่ดูแลในทุกมิติของ Well-Being โดยแพทย์และผู้เชี่ยวชาญ เช่น การออกแบบคอร์สอาหารเพื่อสุขภาพ การออกกำลังกายกับ Personal Trainer ที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล
ตั้งเป้าหมายปักหมุดแบรนด์ เชวาลา ในเมืองท่องเที่ยวหลักของไทยรวม 5 แห่งในช่วงปี 2565-2566 เริ่มด้วย ‘เชวาลา เวลเนส หัวหิน’ เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการเมื่อปลายเดือนกรกฎาคม 2565 ตั้งอยู่ในศูนย์การค้าบลูพอร์ต ขนาดพื้นที่ใช้สอย 450 ตารางเมตร มีทางเชื่อมกับโรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล หัวหิน รีสอร์ท เพื่อเจาะกลุ่มลูกค้าโรงแรมฯ 50% ส่วนอีก 50% เป็นกลุ่มลูกค้าวอล์คอิน โดย ‘เมืองหัวหิน’ ถือเป็นทำเลที่มีศักยภาพสูงในการดึงดูดนักท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพราะเป็นเมืองพักผ่อนติดทะเลที่มีชื่อเสียงระดับโลก จากนั้นในช่วงปลายปีนี้ จะเปิดตัว เชวาลา แห่งที่ 2 ในภูเก็ต ส่วนปี 2566 จะขยายไปอีก 3 แห่งบนเกาะสมุย เชียงใหม่ และพัทยา
“ปัจจุบันธุรกิจเพื่อสุขภาพ (Health & Wellness) เป็นที่น่าจับตามองในประเทศไทย ด้วยความพร้อมและศักยภาพที่เป็นที่ยอมรับของชาวต่างชาติที่เดินทางเข้ามารักษาหรือฟื้นฟูสุขภาพเพิ่มมากขึ้น มีข้อได้เปรียบทางด้านการแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง เทคโนโลยีที่ทันสมัย คุณภาพมาตรฐานบริการทางการแพทย์ในระดับสากล ค่าใช้จ่ายสมเหตุสมผล รวมทั้งความสวยงามของธรรมชาติและวัฒนธรรมแรงดึงดูดทางด้านการท่องเที่ยว” แพทย์หญิงรัตน์กวิน กล่าวย้ำถึงจุดแข็งของประเทศไทยในการผลักดันตลาดท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศ
ขอบคุณภาพโดย Marymarkevich on Freepik
You may also like
-
“ชีวาศรม” รุกบริหาร “ซูลาล เวลเนส รีสอร์ท” กาตาร์
-
MINT รุกตลาดเวลเนส เปิดตัว VLCC ศูนย์ดูแลสุขภาพ-ความงามจากอินเดีย
-
เทรนด์ท่องเที่ยว’65: การกลับมาอีกครั้งของ การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
-
สยามเวลเนสกรุ๊ป สปาแห่งแรกเข้มความปลอดภัย ตรวจโควิดลูกค้า-ผู้ให้บริการ
-
ชู‘ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ’ พลิกฟื้นท่องเที่ยวเปิดประเทศ 120 วัน