อะเมซิ่งไทยเทส’ (Amazing Thai Taste) ถือเป็นหนึ่งในโครงการของคณะทำงานสานพลังประชารัฐด้านส่งเสริมการท่องเที่ยวและไมซ์ (D3) ซึ่งมีแผนดำเนินโครงการในปีนี้อย่างต่อเนื่อง หลังจากปี 2559 คณะทำงานสานพลังประชารัฐ D3 ได้ร่วมกับพันธมิตรกว่า 50 องค์กรรุกส่งเสริมการรับประทานอาหารไทยผลไม้ ข้าว และของฝากในกลุ่มอาหารแก่ตลาดนักท่องเที่ยว เพื่อให้รายได้จากการซื้อขายอาหารสามารถกระจายไปถึงเศรษฐกิจฐานรากทั่วทุกภูมิภาคให้ได้มากที่สุด ไล่เรียงตั้งแต่ระดับเกษตรกรชุมชนไปจนถึงร้านอาหารริมทาง (สตรีทฟู้ด) ที่มีชื่อเสียงอย่างมากของไทย
เริ่มจากการนำเสนอ 6 เมนูหลัก ได้แก่ ผัดไทย ต้มยำกุ้ง ส้มตำ แกงเขียวหวาน ต้มข่าไก่ และมัสมั่น ล้วนเป็นเมนูที่มีชื่อเสียงอันดับต้น ๆ ของโลกอยู่แล้ว ให้เครือข่ายร้านอาหารศูนย์การค้า สนามบิน และสายการบินต่าง ๆ นำไปโปรโมทแก่ลูกค้าทั้งนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างประเทศ รวมถึงข้าวท้องถิ่น 5 พันธุ์ เพื่อดึงให้นักท่องเที่ยวไปเยือนถึงถิ่นกำเนิดของพันธุ์นั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็น ข้าวหอมมะลิแดง ข้าวสังข์หยด ข้าวหอมมะลินิลสุรินทร์ ข้าวไรซ์เบอรี่ และข้าวเหนียวลืมผัว
คุณกลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และประธานโครงการ Amazing Thai Taste ของคณะทำงานสานพลังประชารัฐ D3 เริ่มต้นเล่าว่าแผนงานของโครงการฯ ในปีนี้จะรุกต่อยอดด้วยการโปรโมทเรื่อง ‘อาหารถิ่น’ ใน 5 ภาคจำนวน 25 เมนูอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการนำเสนอผลไม้ตามฤดูกาลตลอด 12 เดือนให้นักท่องเที่ยวได้รับทราบข้อมูลมากขึ้นว่าแต่ละเดือนของไทยเป็นหน้าของผลไม้ชนิดไหน ไม่ใช่รู้ในวงจำกัดว่ามีแค่เฉพาะทุเรียน มังคุด และเงาะในช่วงหน้าฝนเท่านั้นผ่านกิจกรรมต่าง ๆ
สำหรับโครงการย่อยภายใต้ร่ม ‘Amazing Thai Taste’ ในปีนี้ มีด้วยกัน 2 โครงการหลัก ๆ
โครงการแรก คือ ‘Amazing Thai Taste Restaurant’ ปัจจุบันอยู่ระหว่างดำเนินโครงการเป็นการสร้างเครือข่ายร้านอาหารแนะนำที่มีคุณภาพในทุกจังหวัดผ่านการคัดกรองของคณะทำงาน 5 ฝ่าย ประกอบด้วย หอการค้าไทย สมาคมภัตตาคารไทย สมาคมโรงแรมไทย การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) และบริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด
เป้าหมาย คือ การมุ่งคัดเลือก ‘ร้านอร่อย’ ในท้องถิ่นจำนวน 1,000 ร้าน กระจายอยู่ทั่วทุกภูมิภาคให้เป็น ‘แม่เหล็ก’ ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เกิดกระแสการเดินทางไปชิมอาหารถึงท้องถิ่นอย่างเห็นเป็นรูปธรรมและชัดเจนมากขึ้นในปี 2561 โดยเกณฑ์ในการพิจารณามีอยู่ 4 เกณฑ์ด้วยกัน คือ 1. รสชาติอาหารและรูปแบบการนำเสนอ 2. คุณภาพของวัตถุดิบ 3. สะอาดถูกสุขอนามัย และ 4. การให้บริการ
ส่วนอีกโครงการ คือ ‘Amazing Thai Taste Festival 2018’ เตรียมจัดอีเวนต์ในเดือนมิถุนายนของปี ซึ่งเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยน้อยที่สุดให้เป็นเดือนแห่ง ‘เทศกาลอาหารไทย’ เพราะตรงกับช่วงที่มีผลผลิตผลไม้หลากหลายชนิดออกสู่ท้องตลาดให้เลือกสรรจำนวนมาก
โดยททท.มีกำหนดจัดงานเทศกาลอาหารไทยครั้งใหญ่ในวันที่ 7-10 มิถุนายนนี้ ที่สยามสแควร์ ซึ่งในงานจะเป็นการรวบรวมอาหารขึ้นชื่อของทั้ง 5 ภาค ตั้งแต่สตรีทฟู้ด อาหารจานเด็ดจากเชฟชื่อดัง รวมไปถึงอาหารสำรับชาววัง และกิจกรรมที่
น่าสนใจอีกมากมายขณะที่เหล่าพันธมิตรมีกิจกรรมจัดขึ้นทั่วประเทศคอยเสริมทัพตลอดทั้งปีนี้
คุณกลินท์ เล่าปิดท้ายด้วยว่า กิจกรรมและอีเวนต์ทั้งหมดของโครงการ Amazing Thai Taste ในปีนี้หวังว่าจะช่วยผลักดันการเติบโตของรายได้ที่เกิดจากการใช้จ่ายด้านอาหารของนักท่องเที่ยวให้เพิ่มขึ้นจาก 5.9 แสนล้านบาทในปี 2560 เป็น 7.5 แสนล้านบาทของรายได้การท่องเที่ยวทั้งหมดในปีนี้
หลังททท.วางเป้าหมายรายได้ภาพรวมไว้ที่ 3 ล้านล้านบาท จากตลาดนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ!
You may also like
-
เปิดโผ มิชลินไกด์ 2566 ไทยได้ “ดาวมิชลิน” เพิ่ม 5 ดวง
-
ทัวร์เอื้องหลวง ชวนลิ้มรสอาหารแรงบันดาลใจจากวรรณคดี “สุนทรภู่”
-
แอร์เอเชีย กลับมาเสิร์ฟอาหารบนเที่ยวบินอีกครั้ง
-
ดุสิตธานี ขยายพอร์ลงทุนธุรกิจอาหาร ดัน “ดุสิตฟู้ดส์” กินรวบตั้งแต่ต้นน้ำ
-
ครัวการบินไทย ยอดผลิตอาหารขึ้นเครื่อง โตต่อเนื่อง หลังเปิดประเทศ