Fri. Mar 29th, 2024
การจัดสวัสดิการในสถานประกอบการ

การจัดสวัสดิการในสถานประกอบการ

จากการที่ได้มีโอกาสตรวจมาตรฐานโรงแรมร่วมกับตัวแทนกรมการปกครอง ตัวแทนสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว ตัวแทนกรมการท่องเที่ยว 

ตัวแทนการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและตัวแทนสถาบันการศึกษา หลายๆ แห่ง พบความบกพร่องของการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอีกพอสมควรซึ่งล้วนแล้วมีโทษตามมาด้วยทั้งสิ้น เพียงแต่เมื่อเราไม่ทราบก็เลยไม่เกรงกลัว จึงแจ้งมาอีกครั้งเพื่อขอให้ปฏิบัติให้ถูกต้องเสียด้วย จะได้ไม่ถูกลงโทษในเรื่องที่ไม่ควร

เรื่องแรกก็คือการละเลยไม่ปฏิบัติตามกฎหมายแรงงาน ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการจัดสวัสดิการในสถานประกอบกิจการ พ.ศ. 2548 อันมีเรื่องควรต้องปฏิบัติ ดังนี้

  1. น้ำสะอาดสำหรับดื่มหนึ่งที่ทุกๆ ลูกจ้างสี่สิบคน
  2. ห้องน้ำแยกชายหญิงจำนวนตามกฎหมายควบคุมอาคาร และหากมีลูกจ้างที่เป็นคนพิการต้องมีห้องน้ำสำหรับคนพิการด้วยแยกโดยเฉพาะ
  3. สิ่งจำเป็นในการปฐมพยาบาลดังนี้
    • ลูกจ้างต่ำกว่าสองร้อยคนต้องมีสิ่งจำเป็นต่อไปนี้ กรรไกร, แก้วยาน้ำและแก้วยาเม็ด เข็มกลัด, ถ้วยน้ำ, ที่ป้ายยา, ปรอทวัดไข้, ปากคีบปลายทู่, ผ้าพันยืด, ผ้าสามเหลี่ยม, สายยางรัดห้ามเลือด, สำลี ผ้าก๊อซ ผ้าพันแผลและผ้ายางปลาสเตอร์ปิดแผล, หลอดหยดยา, ขี้ผึ้งแก้ปวดบวม, ทิงเจอร์ไอโอดีน หรือโพวิโดน-ไอโอดีน, น้ำยาโพวิโดน, ไอโอดีน ชนิดฟอกแผล, ผงน้ำตาลเกลือแร่, ยาแก้ผดผื่นที่ไม่ได้มาจากการติดเชื้อ, ยาแก้แพ้, ยาทาแก้ผดผื่นคัน, ยาธาตุน้ำแดง, ยาบรรเทาปวดลดไข้, ยารักษาแผลน้ำร้อนลวก, ยาลดกรดในกระเพาะอาหาร, หล้าแอมโมเนียหอม, แอลกอฮอล์เช็ดแผล, ขี้ผึ้งป้ายตา, ถ้วยล้างตา, น้ำกรดบอริคล้างตา, ยาหยอดตา
    • ลูกจ้างตั้งแต่สองร้อยคนขึ้นไป ต้องมี
      • เวชภัณฑ์และยาตาม 3.1
      • ห้องรักษาพยาบาลพร้อมเตียงคนไข้อย่างน้อยหนึ่งเตียง เวชภัณฑ์และยาเพิ่มเติมตามความจำเป็นและเพียงพอแก่การรักษาพยาบาลเบื้องต้น
      • พยาบาลประจำอย่างน้อยหนึ่งคนประจำตลอดเวลาทำงาน
      • หมอหนึ่งคนมาตรวจรักษาพยาบาลสัปดาห์ละไม่น้อยกว่าสองวันรวมแล้วไม่น้อยกว่าหกชั่วโมง
    • ลูกจ้างตั้งแต่หนึ่งพันคนขึ้นไป ต้องมี
      • เวชภัณฑ์และยาตาม 3.1
      • ห้องรักษาพยาบาลอย่างน้อยสองเตียง
      • พยาบาลประจำอย่างน้อยสองคน
      • หมอมาตรวจรักษาพยาบาลสัปดาห์ละไม่น้อยกว่าสามวัน รวมแล้วไม่น้อยกว่าสิบสองชั่วโมง
      • ยานพาหนะซึ่งพร้อมที่จะนำลูกจ้างส่งสถานพยาบาลได้โดยพลัน
    • นายจ้างอาจตกลงกับสถานพยาบาลที่เปิดทำการตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงเพื่อส่งลูกจ้างทำการรักษาพยาบาลได้โดยพลันแทนการจัดให้มีหมอมาที่สถานประกอบการ โดยต้องได้รับอนุญาตจากอธิบดีหรือผู้ซึ่งอธิบดีมอบหมาย

เรื่องที่สอง คือเรื่องการจัดวางเอกสารที่ควรจะต้องวางให้บุคคลที่มาใช้บริการโรงแรมเห็นอย่างน้อยมีสามอย่าง คือ ใบอนุญาตประกอบธุรกิจโรงแรม ใบรับรองการตรวจสอบอาคารประจำปี (ร.1) และประกาศความรับผิดในการเสียหายหรือสูญหายของทรัพย์สินของผู้เข้าพักตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 675 หรือที่เราเข้าใจกันคือความรับผิดห้าพันบาท นั่นเอง

ทั้งสองเรื่องที่นำมาแจ้งให้ทราบเป็นเรื่องที่กฎหมายกำหนดให้ต้องทำ ไม่ใช่อยากทำหรือไม่อยากทำ ดังนั้นโรงแรมใดที่ยังปฏิบัติไม่ถูกต้องก็ทำเสียให้ถูกต้อง จะได้ไม่มีปัญหาในอนาคต.

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *