Fri. Mar 29th, 2024
ค่าจ้างขั้นต่ำ (อีกครั้ง)

ค่าจ้างขั้นต่ำ (อีกครั้ง)

หลังจากมีประกาศของคณะกรรมการค่าจ้างให้มีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำทุกจังหวัดตามนโยบายรัฐบาล (ที่หลีกไม่ได้เนื่องจากไปหาเสียงไว้) 

เมื่อวันที่ 1 เมษายนที่ผ่านมา มีผลให้ 7 จังหวัดมีค่าจ้าง 300 บาทต่อวัน และจังหวัดที่เหลือก็จะขึ้นให้ครบ 300 บาทในวันที่ 1 มกราคม 2556 สมาคมและสภาต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแทนของผู้ประกอบการได้มีการเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนโดยขอให้ขึ้นเป็นขั้นๆ จนครบ 300 บาทต่อวันในปีที่ 3 หรือให้ยกเว้นกิจการบางประเภทที่มีเงินได้และสวัสดิการเกินกว่าค่าจ้างขั้นต่ำมากแล้ว เป็นต้น แต่ไม่ได้รับความสนใจจากรัฐบาลแม้แต่อย่างเดียว

สมาคมโรงแรมไทยได้ร่วมหารือกับฝ่ายทรัพยากรบุคคลของโรงแรมสมาชิกเพื่อกำหนดท่าทีและได้ออกหนังสือขอเข้าพบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานเพื่อขอเข้าพบปรึกษาหารือแนวทางการเยียวยาปัญหาต่างๆ ที่จะมีผลตามมาแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง

สมาคมฯ จึงตัดสินใจจัดการสัมมนาเพื่อคลี่คลายปัญหาแต่ก็ไม่สามารถทำความกระจ่างให้สมาชิกได้ จึงได้สอบถามสมาชิกที่มีประสบการณ์กับศาลสถิตยุติธรรมและค้นคว้าคำพิพากษาเพิ่มเติม จึงได้พบความจริงดังนี้ ต่อคำถามที่ว่าค่าบริการ (Service Charge) จะสามารถรวมเป็นค่าจ้างได้หรือไม่ ตอบว่า “ได้” และ “ไม่ได้” ขึ้นอยู่กับวิธีปฏิบัติของแต่ละโรงแรม ดังนี้

กรณีค่าบริการสามารถนำมารวมเป็นค่าจ้างได้ ท่านต้องปฏิบัติดังนี้

1.1 นำเงินที่เรียกเก็บจากผู้มาใช้บริการมาบันทึกเป็นรายได้ของโรงแรม

1.2 นำเงินค่าบริการมารวมกับเงินเดือนของพนักงานที่มีรายได้ต่ำสุดให้ครบตามค่าจ้างขั้นต่ำที่ประกาศแต่ละจังหวัด เงินค่าบริการที่นำมาจ่ายออกจากบัญชีของโรงแรมมาสมทบกับเงินเดือนนี้เรียกว่าค่าจ้าง

1.3 เงินค่าบริการตามข้อ 1.2 โรงแรมต้องจ่ายเท่ากันทุกคนและทุกเดือน (Guarantee Service Charge) หากมีเงินเหลือจะจ่ายเพิ่มเติมให้กับพนักงานหรือจะเก็บสำรองไว้ก็ได้ แต่ถ้าเดือนใดเงินที่สัญญาไว้ไม่พอ โรงแรมก็ต้องจ่ายเพิ่มเติมให้ครบ

ตัวอย่างที่ 1 โรงแรม ก. ในกรุงเทพมหานคร เรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้ามาแบ่งเฉลี่ยให้พนักงานได้ประมาณเดือนละ 2,000 บาทต่อคน พนักงานที่ได้เงินเดือนต่ำสุด 6,000 บาท โรงแรม ก. สามารถนำเงินค่าบริการ 2,000 บาทมารวมเป็นค่าจ้างได้และจะต้องจ่ายเพิ่มเติมอีก 1,000 บาท เพื่อให้ครบตามอัตราค่าจ้างขั้นต่ำของกรุงเทพมหานคร (ฎีกาที่ 6349/2541)

ตัวอย่างที่ 2 โรงแรม ข. ในกรุงเทพมหานคร รับเงินค่าบริการประมาณเดือนละ 10,000 บาทต่อคน พนักงานที่ได้รับเงินเดือนต่ำสุด 5,500 บาท ให้โรงแรมนำเงินค่าบริการแยกเป็นสองส่วน ส่วนแรกจำนวน 3,500 บาท นำมารวมเป็นค่าจ้างได้ ส่วนที่เหลือก็จ่ายออกเป็นปกติให้พนักงานเช่นที่เคยปฏิบัติ (ฎีกาที่ 1969/2528 และฎีกาที่ 7287/2537)

กรณีที่ค่าบริการไม่สามารถนำมารวมเป็นค่าจ้างได้

ตัวอย่าง โรงแรม ค. เรียกเก็บเงินค่าบริการจากลูกค้าแล้วแยกเงินจำนวนนี้ออกโดยไม่บันทึกเป็นรายได้ของบริษัท เมื่อสิ้นเดือนก็หักค่าทรัพย์สินเสียหายส่วนที่เหลือทั้งหมดก็แบ่งเฉลี่ยให้พนักงานทั้งหมดซึ่งแต่ละเดือนไม่เท่ากัน เงินที่แบ่งให้พนักงานเช่นนี้ ไม่ถือเป็นค่าจ้าง (ฎีกาที่ 8794/2550)

อนึ่ง คำพิพากษาศาลฎีกาฉบับปีล่าสุดจะมีผลให้ลบล้างคำพิพากษาเดิมได้นั้น จะต้องเป็นกรณีเดียวกันเท่านั้น ดังนั้นหากเป็นกรณี Guarantee Service Charge ตามกรณีที่ (1) จะนำกรณี (2) มาหักล้างไม่ได้เพราะวิธีการปฏิบัติใน 2 กรณีดังกล่าวไม่เหมือนกัน

ดังนั้น ขอให้ท่านสมาชิกยึดถือคำพิพากษาศาลฎีกาเป็นหลักในการกำหนดนโยบายการจ่ายค่าจ้างจึงจะเป็นแนวทางที่ปลอดภัยที่สุด

ขณะนี้เราจะเห็นว่ามีขบวนการที่พยายามออกมาสนับสนุนแนวทางการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำเป็นระยะเพื่อแสดงให้เห็นว่าผู้ที่คัดค้านแนวคิดดังกล่าวเป็นผู้ที่เห็นแก่ตัว จนมีการพูดแบบไม่รับผิดชอบออกมาว่า 500 บาทต่อวันก็ไม่น่ามีปัญหาแต่จนบัดนี้พนักงานของผู้พูดยังไม่ได้ 400 บาทเลย

อีกคนหนึ่งบอกว่าการขึ้นค่าแรงไม่มีผลกระทบเพราะยกเลิกการทำงานล่วงเวลาทั้งหมด แปลว่าพนักงานต้องทำงานหนักขึ้นแต่ได้เงินกลับบ้านเท่าเดิม อย่างนี้เรียกว่าพูดโดยไม่รับผิดชอบ

การทำธุรกิจโรงแรมแปลกกว่าธุรกิจอื่นตรงที่เวลาเราตั้งคำถามผู้ประกอบธุรกิจอื่นทั่วๆ ไป เราจะถามว่าธุรกิจกำไรดีไหม แต่เวลาตั้งคำถามกับชาวโรงแรมกลับถามว่ามีผู้มาพักเยอะไหม ถ้ามีมาก (เกิน 70% ขึ้นไป) ผู้คนก็สันนิษฐานว่ากำไรดี ทั้งๆ ที่ต้นทุนของการทำธุรกิจโรงแรมสูงขึ้นตลอดเวลา แต่ค่าห้องพักเพิ่มขึ้นในอัตราที่น้อยมากเนื่องจากมีการแข่งขันที่รุนแรง

เปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนเพียงเรื่องเดียวโดยไม่ต้องนำต้นทุนอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องคือค่าจ้างขั้นต่ำนี่แหละ เมื่อปี 2541 ค่าจ้างขั้นต่ำกรุงเทพมหานครและอีก 6 จังหวัด 162 บาท/วัน ค่าโรงแรม 3 ดาว 800-1,000 บาท/ห้อง/คืน ปี 2555 ค่าจ้าง 300 บาท/วัน ค่าโรงแรม 3 ดาว 1,000-1,200 บาท/ห้อง/คืน

จึงคิดว่าต่อไปเราคงต้องปรับวิธีการบอกกล่าวการทำธุรกิจโรงแรมใหม่ แทนที่จะพูดเรื่องจำนวนของผู้พักเฉลี่ยต่อเดือนอย่างเดียว ควรต้องเพิ่มว่ากำไร/ขาดทุนเท่าไรเป็นข้อมูลประกอบด้วย มิฉะนั้นเวลาเกิดวิกฤตรัฐบาลทุกรัฐบาลมักจะคิดเอาเองว่าธุรกิจโรงแรมไม่ต้องช่วยเพราะรวยแล้ว

Leave a Reply

Or

Your email address will not be published. Required fields are marked *